News Update : 24/09/2009


ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: วิตกเฟดอาจยุติมาตรการฟื้นฟูศก. ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 81.32 จุด
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 1 ชั่วโมง 16 นาทีที่แล้ว
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเฟดระบุในแถลงการณ์ว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ ส่วนการประชุมเฟดครั้งล่าสุดนั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0-0.25% และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

บลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 81.32 จุด หรือ 0.83% แตะที่ 9,748.55 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 10.79 จุด หรือ 1.01% แตะที่ 1,060.87 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 14.88 จุด หรือ 0.69% แตะที่ 2,131.42 จุด

ปริมาณซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.32 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 9 ต่อ 5 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.72 พันล้านหุ้น

เบิร์ท ไวท์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท LPL Financial ในเมืองบอสตันกล่าวว่า ในช่วงแรกนั้นตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นในแดนบวกขานรับมติการประชุมของเฟดที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดที่ 0-0.25% และประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากทรุดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงก่อนหน้านั้น

"แต่ต่อมาตลาดเริ่มอ่อนตัวลงและปิดในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลหลังจากคณะกรรมการเฟดระบุว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่น แถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเฟดวิตกกังวลว่าหากรีบถอนมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ก็จะทำให้ภาวะลื่นไหลในตลาดการเงินสะดุดลง แต่สิ่งที่นักลงทุนวิตกกังวลก็คือเฟดอาจยุติการใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน" ไวท์กล่าว

เฟดได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า เฟดมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและยืนยันว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันคณะกรรมการเฟดเห็นชอบที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วงเงินรวม 3 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เฟดมีมติให้ขยายเวลาการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553

"คณะกรรมการเฟดจะค่อยๆชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฟดจะขยายการเข้าซื้อตราสารหนี้ออกไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553" แถลงการณ์ของเฟดระบุ

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงหลังจากเฟดแถลงว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ โดยหุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ปิดร่วง 3% หุ้นซิตี้กรุ๊ปปิดลบ 2.8% ส่วนหุ้นมูดีส์ คอร์ป ปิดร่วง 8.4% ซึ่งเป็นหุ้นที่ร่วงลงหนักสุดในกลุ่มการเงิน

หุ้นพรูเดนเชียล ไฟแนนเชียล ปิดร่วง 5.2% หลังจากมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นพรูเดนเชียลลงสู่ระดับ “in line" จากเดิมที่ระดับ “attractive"

หุ้นเอ็กซอนโมบิล ปิดร่วง 1.2% หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ดิ่งลงอย่างหนักเนื่องจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมาย ขณะที่หุ้นนิวมอนท์ ไมนิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองทองคำรายใหญ่สุดของสหรัฐ ปิดร่วง 3.6% และหุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน คอปเปอร์ แอนด์ โกลด์ ปิดลบ 2.8%

FED มีมติคงดอกเบี้ย 0-0.25% ระบุจะขยายการซื้อตราสารหนี้จนถึง Q1/53
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 1 ชั่วโมง 47 นาทีที่แล้ว
คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25 % ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุม 2 วันซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) โดยมีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นโดยเร็ว พร้อมระบุว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้น

เฟดได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า "เฟดมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0-0.25% เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและยืนยันว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ข้อมูลที่คณะกรรมการเฟดได้รับในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากทรุดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงก่อนหน้านั้น ส่วนสภาวะในตลาดการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน"

"อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเริ่มมีเสถียรภาพ แต่อัตราว่างงานในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราการเติบโตของรายได้ก็ชะลอตัว และภาวะสินเชื่อยังคงตึงตัว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังคงลดการลงทุนและพนักงาน ซึ่งเฟดวิตกกังวลต่อสถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง" แถลงการณ์ของเฟดระบุ

ส่วนในเรื่องเงินเฟ้อนั้น คณะกรรมการเฟดเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้เนื่องจากอัตราการนำทรัพยากรมาใช้เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ด้านเงินเฟ้อยังคงมีเสถียรภาพ โดยเฟดยังยืนยันเป้าหมายเดิมคือการใช้เครื่องมือทุกด้านในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ควบคู่ไปกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการเฟดยังเห็นชอบที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วงเงินรวม 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนต.ค. นอกจากนี้ เฟดมีมติให้ขยายเวลาการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงแฟนนี เม และเฟรดดี แมค วงเงินรวม 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และขยายเวลาการเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงินรวม 2 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553

"คณะกรรมการเฟดจะค่อยๆชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฟดจะขยายการเข้าซื้อตราสารหนี้ออกไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553" แถลงการณ์ของเฟดระบุ บลูมเบิร์กรายงาน

ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบสกุลเงินหลักๆ จากข่าว FED ชะลอใช้มาตรการกระตุ้นศก.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 18 นาทีที่แล้ว
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐและหันเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวภายหลังการประชุมว่าจะชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.4733 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.4787 ยูโร/ดอลลาร์ และดิ่งลง 0.20% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 91.310 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 91.130 เยน/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.26% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0263 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.0236 ฟรังค์/ดอลลาร์ และขยับขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับปอนด์ที่ 1.6350 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.6353 ปอนด์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.40% แตะที่ 0.8698 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันอังคารที่ 0.8733 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดีดตัวขึ้น 0.04% แตะที่ 0.7191 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7188 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

โลรองต์ เดอบอยส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Montreal of Fjord Capital กล่าวว่า ในช่วงแรกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงหลังจากเฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0-0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

แต่หลังจากนั้นไม่นานดอลลาร์สหรัฐเริ่มดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากเฟดประกาศว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ โดยการขยายเวลาการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงแฟนนี เม และเฟรดดี แมค วงเงินรวม 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และขยายเวลาการเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงินรวม 2 แสนล้านดอลลาร์ ไปถึงแค่ไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553

"การที่เฟดยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้และพันธบัตรสะท้อนให้เห็นว่า คณะกรรมการเฟดยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากนัก แต่การที่เฟดแถลงว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าเฟดวางแผนที่จะยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ" เดอบอยส์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่ม G20 ยังคงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากภาวะถดถอย พร้อมกับเตือนว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่สิ้นสุดลงในขณะนี้

สหรัฐเผยสต็อกน้ำมันดิบพุ่ง 2.8 ล้านบาร์เรล สต็อกเบนซินเพิ่ม 5.4 ล้านบาร์เรล
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 1 ชั่วโมง 13 นาทีที่แล้ว
กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. พุ่งขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 335.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดพลังงานคาดว่าจะร่วงลง 1.5 ล้านดอลลาร์

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นพุ่งขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 170.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรล แตะที่ 213.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 1.3% เหลือเพียง 85.6%

บลูมเบิร์กรายงานว่า สต็อกน้ำมันข้างต้นไม่นับรวมกับคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ของสหรัฐซึ่งปัจจุบันมีน้ำมันดิบสำรองอยู่ประมาณ 689 ล้านบาร์เรล แต่รัฐบาลสหรัฐประกาศให้ปรับเพิ่มคลังน้ำมันสำรองประเภทดังกล่าวขึ้นสู่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลภายในปีพ.ศ. 2570 เพื่อรับมือกับภาวะติดขัดที่อาจเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการโจมตีของผู้ก่อการร้าย

ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดร่วง $2.79 หลังสต็อกน้ำมันดิบ-เบนซินสหรัฐพุ่งเกินคาด
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 51 นาทีที่แล้ว
สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงหนักสุดในรอบ 5 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและเบนซินที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ภาคครัวเรือนและภาคเอกชนลดการใช้จ่ายด้านพลังงาน

บลูมเบิร์กรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 2.79 ดอลลาร์ หรือ 3.9% แตะที่ 68.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.2552 เป็นต้นมา หลังจากเคลื่อนตัวในกรอบ 71.05- 68.88 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 7.67 เซนต์ หรือ 4.3% แตะที่ 1.7049 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 5.27 เซนต์ ปิดที่ 1.7594 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 2.54 ดอลลาร์ ปิดที่ 67.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

บิล โอกราดี้ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท Confluence Investment Management ในสหรัฐ กล่าวว่า นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบและสัญญาน้ำมันประเภทอื่นๆอย่างหนัก หลังจากสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินของสหรัฐพุ่งขึ้นเหนือความคาดหมาย ซึ่งบ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานอ่อนแอเนื่องจากประชนชนตกงานจำนวนมาก ขณะที่ภาคเอกชนลดการจ้างงานและการลงทุน

กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. พุ่งขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 335.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดพลังงานคาดว่าจะร่วงลง 1.5 ล้านดอลลาร์

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นพุ่งขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 170.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรล แตะที่ 213.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 1.3% เหลือเพียง 85.6%

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบสามารถไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดของวันที่ระดับ 68.88 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ เพราะได้แรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ร่วงลงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0-0.25% และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

จี20สนับสนุนแผนการของสหรัฐ สร้างสมดุลใหม่ให้เศรษฐกิจโลก
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น สรุปข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ -- 2 ชั่วโมง 23 นาทีที่แล้ว
ผู้นำมหาอำนาจตะวันตกพร้อมใจสนับสนุนแผนการของสหรัฐที่จะสร้างเศรษฐกิจโลกให้มีความสมดุลมากขึ้น และไม่ให้กลับไปทำธุรกิจแบบเดิมๆเมื่อมีการฟื้นตัวกลับมา


หุ้นโลกใกล้ระดับสูงสุดรอบ 11 เดือน เฟดฉุดดอลลาร์อ่อนค่าสุดในรอบปี
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น สรุปข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ -- 2 ชั่วโมง 25 นาทีที่แล้ว
หุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวานนี้โดยวนเวียนใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือนขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี สวนทางกับดอลลาร์นิวซีแลนด์ที่แข็งสุดในรอบ 13 ปี อย่างไรก็ดี นักลงทุนซื้อขายอย่างระมัดระวังก่อนจะมีการตัดสินใจจากธนาคารกลางสหรัฐเมื่อคืนวานนี้


ภาคอุตสาหกรรมการผลิต-บริการในยุโรปขยายตัวในเดือนก.ย. บ่งชี้ศก.เริ่มฟื้น
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 14 ชั่วโมง 28 นาทีที่แล้ว
อุตสาหกรรมการผลิตและบริการของยุโรปในเดือนก.ย.ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยุโรปกำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

Markit Economics ระบุว่า ดัชนีชี้วัดบรรยากาศภาคการผลิตและบริการของยุโรปขยายตัวสู่ระดับ 50.8 จุด จากระดับ 50.4 จุด ในเดือนส.ค. โดยตัวเลขที่อยู่เหนือระดับ 50 จุด บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยุโรปพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนในเดือนส.ค.

เศรษฐกิจยุโรปแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงในรอบกว่า 60 ปี หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และธนาคารกลางยุโรปอัดฉีดเงินหลายพันล้านยูโรเข้าสู่ตลาด แต่สมาชิกคณะกรรมาธิการกำหนดนโยบายของ ECB กล่าวว่า อัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราต้องจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง

คาร์สเทน จูนัส นักวิเคราะห์จากเดก้า แบงก์ ในแฟรงก์เฟิร์ตกล่าวผ่านทางบลูมเบิร์กว่า "เป็นเรื่องดีมากที่ดัชนีเคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 จุด เพราะแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพและกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ในก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะดีดตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3"

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2473 หลังจากรัฐบาลใช้จ่ายเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การลดหย่อนภาษี และการใช้จ่ายรัฐบาล ขณะที่ ECB ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจขยายตัว 0.2% ในไตรมาสนี้ และจะขยายตัวที่ 0.1% ในไตรมาส 4 หลังจากที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจหดตัวแค่ 0.1% เพราะเศรษฐกิจเยอรมนี ฝรั่งเศสเริ่มดีขึ้น

นายกตีระฆังปิดตลาดหุ้นเฟดชี้ศก.เริ่มฟื้น
ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลง แม้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ปิดการซื้อขายตลาดหุ้นสหรัฐในวันนี้ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ทำหน้าที่ลั่นระฆังปิดตลาด ดัชนีเคลื่อนไหวเบาบาง ก่อนขยับลงมาอยู่ในแดนลบ เพราะนักลงทุนขายทำกำไร แม้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะเผยรายงานหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง และเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำใกล้ 0% ต่อไป ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ ลดลง 2.79 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 68.97 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้หลังปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 9,748.55 จุด ลดลง 81.32 จุด หรือ 0.83% ดัชนีแนสแดค ปิดที่ 2,131.42 จุด ลดลง 14.88 จุด หรือ 0.69% และดัชนีเอสแอนด์พี ปิดที่ 1,060.87 จุด ลดลง 10.79 จุด หรือ 1.01%

ตลาดหุ้นสำคัญของยุโรป ดัชนี FTSE 100 ตลาดลอนดอน ปิดที่ 5,139.37 จุด ลดลง 3.23 จุด หรือ 0.06% ดัชนี DAX ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต ปิดที่ 5,702.05 จุด ลดลง 7.33 จุด หรือ 0.13% และดัชนี CAC 40 ตลาดปารีส ปิดที่ 3,821.79 จุด ลดลง 1.73 จุด หรือ 0.05% ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน ปิดที่ 67.99 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 2.54 ดอลลาร์สหรัฐ

ราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดที่ 1,013.00 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ลดลง 1.20 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดลอนดอน ปิดที่ 1012.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ลดลง 2.75 ดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ดอลล์แข็ง ฉุดทองคำปิดลบ $1.10
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 18 นาทีที่แล้ว
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวภายหลังการประชุมว่าจะชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าถือครองดอลลาร์ส

บลูมเบิร์กรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค.ปิดลบ 1.10 ดอลลาร์ แตะที่ 1,014.40 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 1.10 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,007.20-1,020.40 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค.ปิดที่ 16.910 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 20.50 เซนต์

ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค.ปิดที่ 1,327.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 11.40 ดอลลาร์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค.ปิดที่ 297.65 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 4.75 ดอลลาร์

เจมส์ มัวร์ นักวิเคราะห์จาก TheBullionDesk.com กล่าวว่า สัญญาทองคำถูกแรงขายกระหน่ำเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากเฟดแถลงว่าจะชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการปูทางไปสู่แผนการยุติใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันข้างหน้า

กองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่ลงทุนในทองคำรายใหญ่สุดของโลก ได้ถือครองทองคำทั้งสิ้น 1,101.73 ตันจนถึงขณะนี้ ซึ่งทรงตัวจากระดับก่อนหน้านี้

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: แรงขายหุ้นพลังงาน ฉุดฟุตซี่ปิดลบ 3.23 จุด

Thursday, September 24, 2009 08:00:00
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เพราะได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 69 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงด้วย

บลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนี FTSE 100 ปิดลบ 3.23 จุด หรือ 0.1% แตะที่ 5,139.37 จุด

อังกัส แคมป์เบลล์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Capital Spreads ในลอนดอนกล่าวว่า ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังวางแผนยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การร่วงลงของราคาน้ำมันดิบยังฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย

หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ปิดร่วง 1.6% หุ้นบีพีปิดลบ 1.5% หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 69 ดอลลาร์/บาร์เรล ภายหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. พุ่งขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 335.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดพลังงานคาดว่าจะร่วงลง 1.5 ล้านดอลลาร์

หุ้นโวดาโฟน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลก ปิดบวก 1.3% จากข่าวที่ว่าบริษัทกำลังวางแผนให้บริการลูกค้าให้สามารถเข้าไปใช้งานบนเว็บไซต์ Facebook และ Twitter ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
--อินโฟเควสท์--

ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิเปิดตลาดบวก 34.99 จุด ขณะนักลงทุนจับตาประชุม G20
Thursday, September 24, 2009 08:16:47
ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดตลาดเพิ่มขึ้นในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นหลังจากตลาดปิดทำการเป็นเวลา 3 วัน อย่างไรก็ตาม นิกเกอิเปิดตลาดบวกเพียงเล็กน้อยเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีท่าทีระมัดระวังก่อนที่การประชุม G20 จะเริ่มขึ้นในวันนี้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดบวก 34.99 จุด แตะที่ 10,405.53 จุด

โบรกเกอร์กล่าวว่า แม้แรงซื้อได้หนุนนิกเกอิเปิดตลาดดีดตัวขึ้นหลังจากที่ตลาดปิดทำการไปเมื่อวันที่ 21-23 ก.ย. แต่แรงบวกถูกสกัดลงเนื่องจากตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุม G20 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ก.ย.ที่เมืองพิทซ์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากมีการคาดการณ์ว่าผู้นำกลุ่ม G20 อาจใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงิน
--อินโฟเควสท์--

ยูโรอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์ที่ตลาดโตเกียว ก่อนจี-20 เปิดฉากประชุมวันนี้
Thursday, September 24, 2009 08:44:06
เงินยูโรอ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะหารือถึงสถานการณ์การแข็งค่าของ 16 สกุลเงินหลักที่ซื้อขายกันในตลาดปริวรรตเงินตรา ในการประชุมกลุ่มผู้นำประเทศจี 20 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้

นอกจากนี้ เงินยูโรยังเคลื่อนไหวอ่อนค่าหลังจากที่สื่อรายงานอ้างการเปิดเผยของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินยูโร และหวังกดดันให้ที่ประชุมจี 20 กำหนดกรอบเวลาการหารือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน

เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์เทรดใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในช่วงที่ตลาดหุ้นเอเชียไต่ระดับขึ้นซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนต้องการถือครองสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง

บลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 09:45 น.ตามเวลาโตเกียว เงินยูโรเคลื่อนไหวที่ 1.4743 ดอลลาร์/ยูโร เมื่อเทียบกับระดับ 1.4735 ดอลลาร์/ยูโรเมื่อวานนี้ และเมื่อเทียบกับเงินเยนพบว่า เงินยูโรซื้อขายกันที่ 134.58 เยน/ยูโร จากระดับ 134.52 เยน/ยูโร

เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ระดับ 91.28 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 91.29 เยน/ดอลลาร์

เงินดอลลาร์ออสเตรเลียเคลื่อนไหวที่ 72.06 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 71.97 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์เมื่อวานนี้ เพราะจากอัตราดอกเบี้ยของนิวซีแลนด์ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยในญี่ปุ่นที่ 0.1% ทำให้นักลงทุนต้องการถือครองสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงมากกว่า

ไดซากุ อูเอโนะ นักวิเคราะห์จาก Gaitame.Com Research Institute Ltd กล่าวว่า ธนาคารกลางยุโรปไม่ได้เข้าแทรกแซงตลาดพื่อลดการแข็งค่าของสกุลเงิน และเราจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวัง ว่าการที่เงินยูโรแข็งค่าเมื่อช่วงที่ผ่านมาจะกรระตุ้นให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายทางการเงินเปลี่ยนท่าทีการกำหนดนโยบายการคลังหรือไม่
--อินโฟเควสท์--

Comments