ผลิตภัณฑ์สีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (ตอนที่ 4 : Green Label หรือ eco-Label)


จากการที่เราได้พูดถึงผลิตภัณฑ์สีเขียวมากันก็ตั้ง 3 ตอนก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ทำธุรกิจที่จะต้องดำเนินการ แล้วในส่วนผู้บริโภคอย่างเราๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ที่วางๆ ขายกันอยู่ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีอะไรบ่งบอก วันนี้เราจะตามไปดูกันเลยครับ



ผลิตภัณฑ์สีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ตอนที่ 1 :  ความหมายของผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product)
ตอนที่ 2 : การตลาดสีเขียว (Green Marketing)
ตอนที่ 3 : การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Eco Design)
ตอนที่ 4 : ฉลากสีเขียว (Green Label or Eco Label)



ฉลากสีเขียว (green label หรือ eco-label)



ฉลากเขียว คือ ฉลากที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ข้อดีของการมีฉลากเขียวติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ก็คือใช้เป็นเครื่องหมายให้กับผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้อถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ในส่วนผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายจะได้รับผลประโยชน์ในแง่กำไร เนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้นผลักดันให้ผู้ผลิตรายอื่นๆต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตน ในด้านเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนและส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาวฉลากเขียวจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภคของประชาชน



หลักการในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์สีเขียว


1. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวัน
2. คำนึงถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และคุณประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นถูกจำหน่ายออกสู่ตลาด
3. มีวิธีการตรวจสอบที่ไม่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง ในการประเมินคุณภาพ
ของผลิตภัณฑ์ทางสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด
4. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมีทางเลือกอื่นในการผลิตที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า


ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว


กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้สามารถขอรับการรับรองเครื่องฉลากเขียว จำนวน 35 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทำจากพลาสติกที่ใช้แล้ว หลอดฟลูออเรสเซนต์ ตู้เย็น สี เครื่องสุขภัณฑ์ ถ่านไฟฉาย เครื่องปรับอากาศ กระดาษ สเปรย์ สารซักฟอก ก๊อกน้ำและอุปกรณ์ประหยัดน้ำ คอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า ฉนวนกันความร้อน ฉนวนยางกันความร้อน มอเตอร์ ผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า บริการซักน้ำและซักแห้ง แชมพู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดถ้วยชาม น้ำมันหล่อลื่น เครื่องเรือนเหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ยางพารา บัลลาสต์อิเล็กตรอน สบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิว ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด เครื่องถ่ายเอกสาร สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องเขียน ตลับหมึก ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ สีเคลือบกระเบื้องมุงหลังคา โทรศัพท์มือถือ เครื่องโทรสาร




อาหารฉลากเขียว


อาหารที่ได้รับการประกันคุณภาพอาหาร ที่เรียกว่า eco-food หรือ eco-labeled food ได้แก่ Green food (อาหารฉลากเขียว) และ Hazard-free food (อาหารปราศจากอันตราย) Organic food (อาหารอินทรีย์) อาหารฉลากเขียวเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและมีขายอยู่ทั่วไปในตลาดในประเทศจีน การที่จะได้รับใบรับรองอาหารสีเขียวในประเทศจีนจะต้องกระทำดังนี้


1. ท้องที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องมีสภาพอากาศได้มาตรฐานสูงสุดของประเทศจีน
2. จะต้องควบคุมโลหะหนักตกค้างในดินและน้ำชลประทาน (โดยการตรวจสอบสารปรอท แคดเมียมสารหนู ตะกั่ว โครเมียม และอื่น ๆ)
3. น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานน้ำดื่มของประเทศ
4. การใช้สารเคมีต้องอยู่ในการควบคุมดูแล สารกำจัดโรคแมลงที่เป็นพิษมาก ๆ


โครงการฉลากเขียวของประเทศไทย


ฉลากเขียวเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคชาวเยอรมันเป็นอย่างดี ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ ได้มีการจัดทำโครงการฉลากเขียว สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD) ได้ริเริ่มโครงการฉลากเขียว เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และองค์กรเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติออกมาเป็นรูปธรรม จึงนับว่าเป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล เอกชน และองค์กรกลางต่าง ๆ โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นเลขานุการ



การสมัครขอใช้ฉลากเขียว


การขอใช้ฉลากเขียวเป็นความสมัครใจของผู้ผลิตผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการที่ต้องการ แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ประสงค์จะสมัครขอใช้ฉลากเขียวสามารถซื้อใบสมัครได้ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเสียค่าสมัคร 1,000 บาท ในแต่ละรุ่นหรือแบบ หรือเครื่องหมายการค้า สถาบันฯ และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะตรวจสอบเอกสารและหลักฐาน และจัดทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากเขียวในการโฆษณาและติดที่ผลิตภัณฑ์ เมื่อผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดแล้ว ผู้สมัครจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้ฉลากเขียว เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ในแต่ละรุ่น หรือแบบโดยสัญญามีอายุไม่เกิน 3 ปี

สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตระหนักถึงความสำคัญการมีส่วนรวมการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงได้รวบรวมสารสนเทศเฉพาะเรื่องผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จากแหล่งสารสนเทศทันสมัยภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ได้เผยแพร่ข้อมูลความรู้และ บริการแก่ผู้มาใช้ที่สำนักหอสมุดฯ และทางเว็บไซต์ http://siweb. dss.go.th หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ info@dss.go.th

หมายเหตุ : บทความผลิตภัณฑ์สีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เป็นของคุณสันทนา อมรไชย

-----------------------------------------------------------------------------------

ต้องอย่าลืมนะครับว่า พลังของผู้บริโภคอย่างเราๆ เนี่ยะแหล่ะครับจะเป็นตัวกำหนดให้ธุรกิจต่างๆ หันมาให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่อง ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) กันมากขึ้น เพราะต่อไปเมื่อผู้บริโภคต่างมีส่วนร่วมและให้ความใส่ใจต่อการซื้อของโดยดูในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นธุรกิจที่ไม่ได้ให้ความสนใจหรือให้ความใส่ใจน้อยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ก็ยากที่ยืนอยู่และเติบโตต่อไปได้ในอนาคต 


ใครอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ทำไมการตลาดทศวรรษหน้าต้องให้ความสำคัญการสินค้าสีเขียว ไปอ่าน รีวิวหนังสือ การตลาด 3.0 (Marketing 3.0) ได้ครับ คุณจะรู้ว่าสินค้าสีเขียวของคุณนั้น จะขายให้ใคร

ผมยังมีบทความที่น่าจะช่วยให้เราเข้าใจและเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มขึ้นอีก เราจะได้ไปมีส่วนร่วมช่วยกัน โดยอาจไม่ต้องไปลำบากปลูกต้นไม้เหมือนแต่ก่อน เพราะแม้แต่ตอนที่เรา Shopping ก็สามารถมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยเหมือนกัน Shopping ลดโลกร้อนกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)

Comments

  1. อยากทำฉลากเขียวติดต่อได้ที่ใดบ้างคะ

    ReplyDelete

Post a Comment