News Update : 28/09/2009


ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์เทียบเยนร่วงต่ำสุดในรอบ7เดือนครึ่ง หลังขุนคลังญี่ปุ่นค้านแทรกแซงตลาดเงิน
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 3 ชั่วโมง 50 นาทีที่แล้ว
เงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนครึ่งเมื่อเทียบกับเงินเยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) หลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินการคลังของอังกฤษและญี่ปุ่นออกมากล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าเงินของตนเอง และจากรายงานที่ว่าที่ประชุม G-20 เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเพื่อการขยายตัวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการซื้อขายที่นิวยอร์ก ดอลลาร์ร่วงลงแตะ 89.51 เยน เทียบกับระดับปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 91.280 เยน และดอลลาร์อ่อนค่าแตะ 1.0299 ฟรังก์สวิส จากระดับ 1.0303 ฟรังก์สวิสในวันพฤหัสบดี แต่เพิ่มขึ้นแตะ 1.0922 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.0903 ดอลลาร์แคนาดา

ขณะที่ ยูโรอยู่ที่ 1.4683 ดอลลาร์ และ 131.62 เยน เทียบกับระดับปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 1.4658 ดอลลาร์ และ 133.80 เยน

ส่วนเงินปอนด์ปอนด์ดิ่งลงแตะ 1.5919 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ต้นเดือนมิ.ย. ก่อนขยับขึ้นกลับมาอยู่ที่ 1.5931 ดอลลาร์

นายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ในประเทศว่า การอ่อนค่าของเงินปอนด์จะเอื้อประโยชน์ในการปรับสมดุลให้เศรษฐกิจอังกฤษมุ่งเน้นไปที่การส่งออกมากขึ้น นอกจากนี้นายคิงยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจกำลังขยายตัว แต่ประชาชนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจมากเกินไป เนื่องจากการขยายตัวดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติอังกฤษสอดคล้องกับท่าทีระมัดระวังของธนาคารกลางอังกฤษในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้
ธนาคารกลางอังกฤษคาดว่าจะคงใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบสุดโต่งต่อไปอีกสักระยะ ซึ่งเป็นการกดดันค่าเงินปอนด์ให้ร่วงลง โดยเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา

ด้านนายโฮริฮิสะ ฟูจิอิ รมว.คลังญี่ปุ่น ย้ำจุดยืนในการคัดค้านการแทรกแซงตลาดเงินในระหว่างการพูดคุยกับนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ ซึ่งนายฟูจิอิกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะไม่ใช้นโยบายการเงินอย่างจงใจเพื่อทำให้เงินเยนอ่อนค่า

ขณะที่ไกธ์เนอร์กล่าวว่า สหรัฐมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงที่จะทำให้สกุลเงินดอลลาร์ยังคงสถานะการเป็นสกุลเงินหลักในระบบทุนสำรองของโลก และกล่าวว่าคณะทำงานของประธานาธิบดีโอบามาจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรักษาตำแหน่งของสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินโลกต่อไป

ทั้งนี้ ผู้นำประเทศกลุ่ม G20 ตกลงกันในที่ประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 ที่เมืองพิตต์สเบิร์กว่า จะยังคงใช้มาตรการต่างๆเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปจนกว่าการฟื้นตัวจะยั่งยื่นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ผู้นำ G20 ยังเห็นพ้องที่จะพัฒนากระบวนการหรือขั้นตอนที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือสำหรับการยุติการสนับสนุนภาคการเงินและการคลังเมื่อถึงเวลา

รายงานข่าวจากที่ประชุมในพิตต์สเบิร์กจุดกระแสคาดการณ์ว่า ทางการสหรัฐจะยังคงใช้นโยบายกระตุ้นการปล่อยสินเชื่ออย่างเต็มที่เพื่อพยุงเศรษฐกิจต่อไป ส่งผลให้นักค้าเงินหันมาซื้อเงินเยนและยูโรที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอลลาร์

กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ประเทศ เสร็จสิ้นการประชุมระยะเวลาสองวันในช่วงบ่ายวานนี้ โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์เน้นย้ำความจำเป็นในการคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเพื่อการขยายตัวอย่างยั่งยืน

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: สัญญาทองคำปิดร่วง 7.30 ดอลลาร์ เหตุดีมานด์อ่อนแอ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 4 ชั่วโมง 52 นาทีที่แล้ว
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) และเป็นสัปดาห์แรกในรอบ 6 สัปดาห์ที่ราคาทองร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนเลือกที่จะขายทำกำไร เพราะขาดดีมานด์กระตุ้น และหลังจากที่ราคาทองไม่สามารถพุ่งทำนิวไฮได้เมื่อตอนต้นสัปดาห์

สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 7.30 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 991.60 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากที่ดิ่งแตะระดับต่ำสุดในการซื้อขายระหว่างวันที่ 985.50 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนตัวที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 23.5 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 16.06 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 23.90 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 1,284.60 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 3 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 294.90 ดอลลาร์/ออนซ์

อย่างไรก็ดี สัญญาทองแดงส่งมอบเดือนก.ย. สวนกระแส เพิ่มขึ้น 3.1 เซนต์ แตะ 2.7405 ดอลลาร์/ปอนด์
นักลงทุนขาดแรงจูงใจที่จะเข้าซื้อ เมื่อราคาทองร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยเฉพาะหลังจากที่ทองคำร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1,000 ดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนเลือกที่จะขายทำกำไรก่อนหยุดสุดสัปดาห์

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยวานนี้ก็น่าผิดหวัง โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค.ร่วงลง 2.4% สวนทางคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากที่พุ่งขึ้น 4.8% ในเดือนก.ค. ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ก็ขยับขึ้นเพียง 0.7% แตะ 429,000 หลัง จากระดับ 426,000 ในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดขายจะสูงขึ้น 1.6% แตะ 440,000 หลัง ซึ่งข้อมูลเชิงลบเหล่านี้ได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ด้าน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนซื้อขาย-แลกเปลี่ยนทองคำรายใหญ่สุด เผยว่าปริมาณทองคำที่กองทุนถือครองอยู่นั้น ลดลง 7.62 เมตริกตัน มาอยู่ที่ 1,094.11 ตันในวันพฤหัสบดี ซึ่งหมายความว่าอุปสงค์ทองคำลดลง และส่งผลสืบเนื่องให้เกิดแรงกดดันไปที่ราคาทองคำ

เทรดเดอร์กล่าวว่า การร่วงลงของราคาทองคำในช่วงนี้เกิดจากการปรับฐานหลังจากที่ราคาทองไม่สามารถทะลุแนวต้านทางเทคนิคที่ระดับ 1,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นอกจากนี้การร่วงลงยังเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบเงินยูโร หลังจากที่มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ช่วยให้ราคาทองขยับขึ้นจากระดับต่ำสุดของวัน
วานนี้ รอยเตอร์ส/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งปรับตัวขึ้นแตะ 73.5 ในเดือนก.ย. จากระดับ 65.7 ในเดือนส.ค. นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2551 และเป็นสัญญาณที่น่ายินดีเพราะหมายถึงผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดดีดขึ้น 13 เซนต์ จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 5 ชั่วโมง 11 นาทีที่แล้ว
สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดดีดขึ้นเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) เนื่องจากเทรดเดอร์เข้าซื้อหลังจากที่ราคาน้ำมันดิ่งลงสองวันที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตลอดจนกระแสคาดการณ์ดอลลาร์อ่อนค่าหลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐได้ออกมากล่าวว่าเขาจะให้การสนับสนุนโครงการกู้ยืมต่อไป

สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ดีดขึ้น 13 เซนต์ ปิดที่ 66.02 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนัก 8.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากสุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.ขยับลงไม่ถึงเพนนี ปิดที่ 1.6771 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ลดลงเกือบ 2 เซนต์ ปิดที่ 1.6205 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 29 เซนต์ ปิดที่ 65.11 ดอลลาร์/ออนซ์

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิ่งลงเกือบตลอดทั้งสัปดาห์หลังจากที่รายงานของรัฐบาลเผยให้เห็นว่า สหรัฐยังมีอุปทานปิโตรเลียมส่วนเกินอยู่มาก ขณะที่ฤดูขับขี่ในหน้าร้อนใกล้จะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ดี เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ร่วงลงมากเกินไป

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ และผู้นำฝรั่งเศสและอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์เตือนอิหร่านเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งได้จุดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง

"อิหร่านกำลังฝ่าฝืนกฎซึ่งทุกชาติต้องปฏิบัติตาม" โอบามากล่าวในการประชุมสุดยอด G-20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก

ทั้งนี้ การลงดาบอิหร่านไม่ว่าด้วยวิธีการใดจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มโอเปค รองจากซาอุดิอาระเบีย และชายแดนตอนใต้ของอิหร่านอยู่ติดกับช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่จะบรรทุกน้ำมันดิบจากอ่าวเปอร์เซียเพื่อนำไปส่งยังทั่วทุกมุมโลก

ราคาน้ำมันดิบยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่เบน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าการเฟด กล่าวว่าเขาจะให้การสนับสนุนการปล่อยกู้ในตลาดต่อไป โดยการขยายเวลาโครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินภายใต้โครงการ TALF ซึ่งเป็นโครงการปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งตลาดมองความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะนำไปสู่การอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ และผลักดันให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน

สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.เพิ่มขึ้นแค่ 0.7% น้อยกว่าคาดการณ์
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 6 ชั่วโมง 2 นาทีที่แล้ว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.7% แตะ 429,000 หลัง จากระดับ 426,000 ในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดขายจะสูงขึ้น 1.6% แตะ 440,000 หลัง นับเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐยังไม่มั่นคง
แม้จะเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และเป็นตัวเลขที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 11 เดือน แต่ยอดขายลดลง 4.3% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ของปีก่อน

ขณะที่ราคากลางของบ้านใหม่เดือนส.ค.ในสหรัฐอยู่ที่ 195,200 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่เดือนต.ค.2546 โดยราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ในเดือนส.ค.ร่วงลง 9.5% จากระดับ 215,600 ดอลลาร์ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของปีที่แล้วที่ 221,000 ดอลลาร์ อยู่ประมาณ 11.7%

ทั้งนี้ มาตรการคืนภาษีแบบขั้นบันได (tax credit) มูลค่า 8,000 ดอลลาร์สำหรับผู้ซื้อบ้านครั้งแรกซึ่งคณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามานำมาใช้และกำลังจะสิ้นสุดโครงการในเดือนพ.ย.นี้ ประกอบกับราคาบ้านที่ถูกลงเนื่องจากจำนวนบ้านที่ถูกยึดจากการจำนอง (Foreclosure) เพิ่มสูงขึ้นมาก ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนยอดขายบ้านใหม่ให้ปรับตัวขึ้นในปีนี้ โดยจนถึงขณะนี้ ยอดขายปรับตัวสูงขึ้น 30.4% จากระดับต่ำในเดือนม.ค.

แม้นักเศรษฐศาสตร์แสดงความผิดหวังต่อยอดขายบ้านใหม่ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนส.ค. แต่กระทรวงพาณิชย์ยังมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัย

"การเพิ่มขึ้นของยอดขายบ้านใหม่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ได้จุดปะทุให้กิจกรรมด้านการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าการก่อสร้างที่พักอาศัยจะขยายตัวในไตรมาสนี้ หลังจากที่ปรับตัวลดลงมา 14 ไตรมาสติดต่อกัน" กระทรวงฯระบุในแถลงการณ์

"เราเล็งเห็นสัญญาณของความมีเสถียรภาพในตลาดที่อยู่อาศัยได้จากข้อมูลยอดขายบ้านใหม่ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลังที่แข็งแกร่งซึ่งนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"

สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค.ร่วง 2.4% สวนทางคาดการณ์
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 6 ชั่วโมง 16 นาทีที่แล้ว
กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค.ร่วงลง 2.4% เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา และสวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ในวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากที่พุ่งขึ้น 4.8% ในเดือนก.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากดีมานด์เครื่องบินพาณิชย์ที่ดิ่งลงอย่างหนัก

การปรับตัวลดลงครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน เป็นหลักฐานว่าการฟื้นตัวในภาคการผลิตจะเป็นไปอย่างช้าๆและค่อยเป็นค่อยไป

รายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การร่วงลงผิดความคาดหมายของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนหรือสินค้าที่มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 3 ปีในเดือนส.ค.นั้น มีสาเหตุหลักมาจากยอดสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์และชิ้นส่วนที่ทรุดฮวบลงถึง 42.2% หลังจากที่ดีดขึ้นเกือบสองเท่าในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ถ้าไม่รวมอากาศยานและสินค้าด้านการขนส่งอื่นๆ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนโดยรวมเดือนส.ค.จะทรงตัวจากเดือนก่อน ซึ่งก็ยังต่ำกว่าระดับคาดการณ์

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 42.25 จุด หลังนลท.ผิดหวังข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 5 ชั่วโมง 41 นาทีที่แล้ว
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.ที่น่าผิดหวัง ซึ่งบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่มั่นคง

บลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 42.25 จุด หรือ 0.4% แตะที่ 9,665.19 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 6.40 จุด หรือ 0.6% แตะที่ 1,044.38 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 16.69 จุด หรือ 0.8% แตะที่ 2,090.92 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.2 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 4 ต่อ 3

โดยในรอบสัปดาห์ ดาวโจนส์ร่วง 1.6% S&P 500 ลดลง 2.2% และ Nasdaq ลดลง 2%

กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ร่วงลง 2.4% ในเดือนส.ค. เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา และสวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ในวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากที่พุ่งขึ้น 4.8% ในเดือนก.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากดีมานด์เครื่องบินพาณิชย์ที่ดิ่งลงอย่างหนัก

การปรับตัวลดลงครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน เป็นหลักฐานว่าการฟื้นตัวในภาคการผลิตจะเป็นไปอย่างช้าๆและค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยด้วยว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.7% แตะ 429,000 หลัง จากระดับ 426,000 ในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดขายจะสูงขึ้น 1.6% แตะ 440,000 หลัง นับเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐยังไม่มั่นคง

โดยวานนี้ นักลงทุนเมินเฉยต่อการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จัดทำโดยรอยเตอร์ส/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งปรับตัวขึ้นแตะ 73.5 ในเดือนก.ย. จากระดับ 65.7 ในเดือนส.ค. นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2551 และเป็นสัญญาณที่น่ายินดีเพราะหมายถึงผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ไม่ได้เลวร้ายและยังดีกว่าข้อมูลเดือนที่แล้วมาก อย่างไรก็ตามยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสอง ตลอดจนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนยังนับว่าน้อยกว่าคาดการณ์ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับระยะเวลาที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว นอกจากนี้นักวิเคราะห์เตือนว่า ยังมีข้อมูลที่จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีกเพื่อตัดสินว่าข้อมูลเชิงลบเพียงเดือนเดียวคือจุดเริ่มต้นของแนวโน้มขาลงหรือไม่

ในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนได้มองเห็นภาพของเศรษฐกิจชัดขึ้น โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดรายงานตัวเลขจ้างงานเดือนก.ย.ในวันศุกร์หน้า ซึ่งตัวเลขจ้างงานถูกมองว่าเป็นรายงานเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในแต่ละเดือน เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีความสำคัญกับเศรษฐกิจสหรัฐมาก นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังจะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขการผลิต ยอดสั่งซื้อจากโรงงาน และราคาบ้านด้วย

ขณะเดียวกัน ยอดขายรายไตรมาสของบริษัทรีเสิร์ช อิน โมชั่น จำกัด ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน แบล็กเบอร์รี่ น้อยกว่าคาดการณ์ และได้ถ่วงการซื้อขายในดัชนีเทคโนโลยี Nasdaq โดยหุ้นรีเสิร์ช อิน โมชั่น ร่วง 14.15 ดอลลาร์ หรือ 17% แตะ 68.91 ดอลลาร์

นักวิเคราะห์คาดบริษัทสหรัฐอาจปลดพนักงานน้อยลงในเดือนก.ย.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 16 ชั่วโมง 10 นาทีที่แล้ว
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าบริษัทในสหรัฐอาจปลดพนักงานน้อยลงในเดือนกันยายน และภาคการผลิตอาจขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว

ผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 58 รายโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่า อัตราจ้างงานอาจลดลง 180,000 อัตราในเดือนกันยายน ซึ่งถือว่าลดน้อยสุดนับตั้งแต่ต้นปี โดยกระทรวงแรงงานจะเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคมนี้

ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อาจขยายตัวเร็วสุดในรอบกว่า 3 ปีในเดือนนี้ ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนประจำเดือนสิงหาคมอาจทะยานสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการรถเก่าแลกซื้อรถใหม่ของรัฐบาล

"ในช่วงแรกเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบช้าๆ และไม่ค่อยราบรื่นนัก" ไรอัน สวีท นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงจาก Moody’s Economy.com ในเพนซิลเวเนีย กล่าว "ตลาดแรงงานเป็นกุญแจสำคัญ ดังนั้นอัตราการปลดพนักงานต้องลดลงยิ่งกว่านี้จึงจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ"

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราว่างงานเดือนกันยายนอาจเพิ่มขึ้นแตะ 9.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526 จากระดับ 9.7% ในเดือนสิงหาคม และอาจพุ่งแตะระดับ 10% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

นักวิเคราะห์คาดตลาดหุ้นนิวยอร์กยังอ่อนตัวสัปดาห์นี้ หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจย่ำแย่
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 48 นาทีที่แล้ว
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะอ่อนตัวลงและเคลื่อนตัวอย่างผันผวนในสัปดาห์นี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมถึงยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านเก่า และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ที่ร่วงลงเกินคาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสหรัฐ ยังคงอ่อนแอและอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นไปอย่างล่าช้า

เจมมี ค็อกซ์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Harris Financial Group ในมลรัฐเวอร์จิเนีย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบถึง 4 วัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของสหรัฐ รวมถึงเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยรุนแรงแล้วก็ตาม

ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หุ้นกลุ่มการเงินถูกแรงขายกระหน่ำลงหนักสุดหลังจากคณะกรรมการเฟดประกาศว่าจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยการขยายเวลาการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงิน 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และขยายเวลาการเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนถึงแค่ไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2553 เท่านั้น

โลรองต์ เดอบอยส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Montreal of Fjord Capital กล่าวว่า การขยายระยะเวลาในการเข้าซื้อตราสารหนี้ไปจนถึงแค่ไตรมาสแรกของปีหน้าได้จุดกระแสความวิตกกังวลว่า ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของเฟดอาจปูทางไปสู่การใช้แผนยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งท่าทีของเฟดในครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงทันที และยังส่งผลกระทบไปถึงตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรปด้วย

สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค.ร่วงลง 2.7% แตะระดับ 5.10 ล้านหลัง จากระดับ 5.24 ล้านหลังในเดือนก.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ว่าจะอยู่ที่ 5.35 ล้านหลัง ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.7% แตะ 429,000 หลัง จากระดับ 426,000 ในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดขายจะสูงขึ้น 1.6%

ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐยังไม่มั่นคงและยังสะท้อนให้เห็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐร่วงลง 2.4% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา และสวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ในวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% โดยมีสาเหตุหลักมาจากดีมานด์เครื่องบินพาณิชย์ที่ดิ่งลงอย่างหนัก

บลูมเบิร์กรายงานว่า นักลงทุนยังคงจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันจันทร์ เฟดสาขาชิคาโกเปิดจะเผยดัชนีอุตสาหกรรมทั่วประเทศเดือนส.ค. วันอังคาร สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์จะเปิดเผยราคาบ้านเดือนก.ค.และสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ดจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐเดือนก.ย.

วันพุธ ADP Employer Services จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศเดือนก.ย. กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 2 และสมาคมผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อแห่งชาติ (NAPM) จะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)

ส่วนวันพฤหัสบดี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยรายได้ส่วนบุคคลเดือนก.ย. สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) จะเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติจะเปิดเผยยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนส.ค.

วันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payroll) เดือนก.ย. และกระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนส.ค.

ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิเปิดตลาดร่วง 129.74 จุด หลังเยนแข็งฉุดหุ้นส่งออกดิ่ง
Monday, September 28, 2009 08:14:06
ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดตลาดร่วงลงกว่า 100 จุดในวันนี้ เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยนได้ฉุดหุ้นกลุ่มส่งออกดิ่งลง รวมถึงหุ้นบริษัทผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ยิ่งส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายซบเซาลงด้วย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดร่วงลง 129.74 จุด แตะที่ 10,136.24 จุด

ราคาหุ้นร่วงลงทั้งกระดานในช่วงเช้านี้ โดยหุ้นกลุ่มส่งออก รวมถึงหุ้นบริษัทผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วงลงหนักสุด หลังจากสกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มขนส่งทางเรือ กลุ่มไฟแนนซ์ และกลุ่มหลักทรัพย์ ร่วงลงเช่นกัน

นักลงทุนจับตาดูผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 3 ซึ่งธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าผลสำรวจทังกันจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ -33 จุด จากไตรมาส 2 ที่ระดับ -48 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย และสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังฟื้นตัวไม่มากพอที่ทางบริษัทจะเพิ่มการลงทุนในระยะนี้
--อินโฟเควสท์--

Comments