ตอนนี้ คน กทม. หลายคนที่น้ำยังมาไม่ถึง คงมีคำถามค้างคาใจ (เหมือนกับผม) ว่าน้องน้ำจะมาหาไหม แล้วจะมาเมื่อไหร แล้วจะมามากไหมเนี่ยะ หลายคนแอบคิดว่า พื้นที่หรือเขตที่ชั้นอยู่น่าจะรอดนะ ตามระดับความสูงของแต่ละพื้นที่ แต่ก็ไม่วายลุ้นระทึก เมื่อได้ดู ได้ฟังข่าวแต่ละวันที่น้ำเริ่มทะลักลึกเข้ามาใน กทม. เรื่อยๆ ใจก็ตุ๋มๆ ต่ำๆ เพราะน้องน้ำได้เขยิบเขามาใกล้อีกแล้วหรอเนี่ย สามคำถามเดิมก็เริ่มกลับมา สร้างความเครียด ความกังวลใจกันอีกครั้ง (เหนื่อยจริง) วันก่อนได้ฟังรองผู้ว่า กทม. ที่ได้บอกไว้ว่า พื้นที่ กทม.22 เขต ที่มีโอกาสรอดสูง (แต่ไหงไม่มีพื้นที่เราหว่าาาา.... T-T) จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า น้ำที่ทะลักเข้ามาจากทางตอนเหนือของ กทม. เขาจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างไร ถึงจะบอกได้ว่าพื้นที่ไหนมีโอกาสรอดไม่รอด วันนี้ได้ไปอ่านบทความใน นสพ.เดลินิวส์ ในเรื่อง "หลายปัจจัยพื้นที่ 'รอดน้ำท่วม' พื้นที่ต่ำใช่ว่าจะท่วม" ที่มีนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. มาเปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำที่เข้าท่วม กทม. อยู่ตอนนี้ จึงนำมาฝากเพื่อนๆ ที่กำลังลุ้นและรออยู่ จะได้ลุ้นอย่างมีสติพร้อมกับการตั้งรับไปในตัวด้วย
หลายปัจจัยพื้นที่ 'รอดน้ำท่วม' พื้นที่ต่ำใช่ว่าจะท่วม..
ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่เป็นวงกว้างมากขึ้น เหลือพื้นที่แห้งน้อยลงทุกที อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยให้พื้นที่ใดรอด หรือพื้นที่ใดผู้คนต้องรับชะตากรรมกับปัญหาน้ำท่วมขัง
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง เปิดเผยว่า หากจะบอกว่าพื้นที่ใดจะรอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมบ้าง ไม่มีปัจจัยชี้ชัดที่ตายตัว เพราะนอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ
มาพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการ ได้มีการคิดโมเดลจัดการน้ำ เพื่อป้องกันให้พื้นที่กรุงเทพฯมีโอกาสรอดจากปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด ซึ่งตามแนวคิดคือ การลดปริมาณน้ำเหนือที่เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ จากที่มีประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ให้ทรงตัวหรือลดลง
สำหรับแผนการระบายน้ำ เริ่มที่ด้านเหนือที่เข้ามาทางถนนพหลโยธิน ดอนเมือง เป็นน้ำที่ไหลผ่านมาทางคลองหกวาสายล่างที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะนี้กรมชลประทานมีการเพิ่มปั๊มที่ประตูระบายน้ำคลองหกวาสายล่าง จาก 12 ตัวเป็น 14 ตัว และ กทม.ตัดสินใจรื้อประตูระบายน้ำคลอง 9-13 เพื่อให้น้ำลงมามากที่สุด แต่ยังมีความปลอดภัยเนื่องจากยังมีประตูระบายน้ำของกรมชลฯ อยู่ด้านบนของคลอง เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังไม่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้กรมชลฯยังมีการเปิดปั๊มน้ำจำนวนมาก คือ ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนหนองจอก เปิด 14 ตัว ประตูระบายน้ำคลองประเวศ ตอนพระองค์เจ้าไชยานุชิต เปิดจำนวน 13 ตัว ซึ่งจากระบบทั้งหมดจะทำให้สามารถสูบได้ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผลที่ตามมาคือจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นวันละ 14 ซม. ลดลงเหลือ 8 ซม. และลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งความต้องการคือ ให้น้ำลดลงในปริมาณติดลบ 15 ซม. ขึ้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้ภายใน 5 วัน น้ำยังลงเรื่อย ๆ จะทำให้น้ำลดลงเหลือ 2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ที่มา : สำนักการระบายน้ำ
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ จะทำให้เราสามารถดึงน้ำจากพหลโยธิน และวิภาวดีรังสิต ที่อยู่ในพื้นที่ดอนเมืองและสายไหม รวมถึงปริมาณที่น้ำจะเข้าเมืองคืนกลับออกมาทางคลองหกวาสายล่าง เนื่องจากกรมชลฯ จะเสริมปั๊มที่ประตูระบายน้ำคลองหกวาสายล่างอีก 3 ตัวเป็น 17 ตัว ซึ่งน้ำจะไหลอย่างอิสระเข้าระบบฝั่งตะวันออก นอกจากนี้จะขึ้นอยู่กับการเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา เขตคลองสามวา หากมีการเปิดบานประตูกว้างมากเพื่อปล่อยน้ำลงมามาก น้ำจะเข้าสู่ คลองแสนแสบมากขึ้น และหากปริมาณน้ำล้นคลอง จะเข้าท่วมพื้นที่ดังกล่าวรวมถึงนิคมฯบางชัน ที่มีปัญหาเนื่องจากระบบป้องกัน ที่น้อยกว่านิคมฯลาดกระบัง เนื่องจากไม่มีแนวคันป้องกันและจุดที่จะสูบน้ำเพื่อระบายออก รวมถึงมีคลองล้อมรอบเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้หากมีการทำตามโมเดลดังกล่าวและสามารถบล็อกน้ำที่ลงมาจากตอนเหนือได้สำเร็จตามแผน ก็จะทำให้พื้นที่ใน 22 เขต มีโอกาสรอดสูง ซึ่งได้แก่ บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ จอมทอง ภาษีเจริญ วัฒนา ดินแดง สาทร ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย สวนหลวง ประเวศ ห้วยขวาง วังทองหลาง บางซื่อ และบางกอกน้อยบางส่วน สะพานสูง บางกะปิ บึงกุ่ม
โมเดลนี้จะแก้ได้สำเร็จหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาทางด้านตะวันออกจากที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนทิศเหนือก็จะพยายามบล็อกน้ำไม่ให้เข้าเมืองเอกมาเติมน้ำที่มีอยู่ เนื่องจากความเร็วและความแรงของน้ำลดลง เพราะความสูงและความเร็วช่วงวิกฤติได้ผ่านไปแล้ว ส่วนฝั่งธนฯหรือด้านตะวันตก ก็ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องประตูระบายน้ำ 14 บาน ที่ทำให้น้ำเทเข้าพื้นที่ตะวันตก ทำให้คลองมหาสวัสดิ์รับปริมาณน้ำไม่ไหว หากดำเนินการได้ก็จะทำให้หลายพื้นที่มีโอกาสรอด
สำหรับพื้นที่ที่ท่วมแน่นอนจำนวน 28 เขต เป็นไปตามสาเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแน่นอนเนื่องจากเป็นเขตที่อยู่ในทางรับน้ำ ทางด้านตะวันออก ได้แก่ เขต คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง หนอกจอก และฝั่งตะวันตกที่เขตบางแค
ส่วนพื้นที่ที่รับน้ำที่ไหลมาจากด้านทิศเหนือโดยตรง ได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางเขน พื้นที่ฝั่งธนฯ ที่ต้องรับน้ำด้านตะวันตก ซึ่งรับน้ำที่ลงมาจากจังหวัดนนทบุรี ได้แก่ เขต บางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน และเขตหนองแขม รับน้ำที่ตลบกลับมาจากพื้นที่ จ.นครปฐม
เขตที่รับผลกระทบเนื่องจากมีแนวคลองที่ต้องใช้ในการระบายน้ำพาดผ่าน ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนฯ ได้แก่ เขตลาดพร้าว จตุจักร คันนายาว และธนบุรี
และเขตที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นจากน้ำขึ้นน้ำลง ได้แก่ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางรัก บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย พระโขนง คลองสาน บางนา บางกอกใหญ่
สรุปว่าพื้นที่ต่ำไม่ได้หมายความว่าน้ำจะต้องท่วมเสมอไป ยังมีปัจจัยอีกหลายตัวแปรที่ชัดเจนคือ หากพื้นที่นั้นอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมด้วยระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีก็มีสิทธิรอด.
ทีมข่าวกทม. / นสพ.เดลินิวส์
ส่วนอันนี้เป็นบทความข่าวเพิ่มเติม ของนายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทาน เปิดแผนกู้วิกฤติ กทม.
นายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ภายในสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ย. ต้องช่วยกันลุ้นไม่ให้คันกั้นน้ำหรืออาคารชลประทานใดๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเสียหายเพิ่มอีก เพราะหลังจากนั้น น้ำทะเลจะเริ่มเป็นขาลง และสถานการณ์น้ำจะคลายความวิกฤติลง
ทั้งนี้ เพราะน้ำ 3 ทัพจะเหลือเพียงแค่ 2 ทัพ คือ น้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำทุ่งเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นถือได้ว่ากรุงเทพฯ จะเข้าสู่ระยะปลอดภัย และมั่นใจว่าจะไม่มีการสูญเสียอีก ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เพราะขณะนี้ ฝั่งตะวันออกของ กทม.สามารถพูดได้ว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์น้ำได้แล้ว
"ตอนนี้จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่กรมชลฯ ได้ใช้โครงการชลประทานรังสิตเหนือ หรือแนวถนนพหลโยธิน ไปจนถึงคลองรังสิต 13 โดยมีแนวคลองรังสิตประยูรศักดิ์เป็นแนวรับ บริหารพื้นที่แบบแก้มลิง สามารถโปรยน้ำเข้ากรุงเทพฯ ในปริมาณที่ กทม.สามารถระบายน้ำออกได้ทันแล้ว ถือว่าปริมาณน้ำเข้าออก กทม.ด้านตะวันออกสมดุลแล้ว ส่วนแผนการเจาะถนนเลียบคลองระหว่างคลองรังสิต 9 และคลองรังสิต 10 เป็นการเปิดปากคลอง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเร่งระบายน้ำออกจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ให้ไหลลงสู่คลองหกวาเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงด้านประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์" นายวีระระบุ
ส่วนแผนรับมือน้ำทุ่งที่ไหลบ่าท่วมฝั่งธนบุรีของ กทม. และ อ.บางบัวทอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี รวมทั้ง อ.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม นั้น นายวีระ กล่าวว่า แนวตั้งรับที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการระบายน้ำออกจากฝั่งธนบุรีอยู่ที่คลองภาษีเจริญ โดยจะใช้แนวคลองนี้เป็นตัวรับน้ำทุ่งทั้งหมดของฝั่งธนบุรี และสูบน้ำออกไปทางแม่น้ำท่าจีน และแก้มลิงสมุทรสาคร
"การจัดการกับน้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งธนบุรี เพื่อป้องกันน้ำทะลักตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ซึ่งมีคันกั้นน้ำไม่ครบตลอดแนว หรือคันกั้นน้ำฟันหลอนั้น จะมีการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทานและ กทม.เพื่อสรุปรายละเอียดและแผนปฏิบัติการสร้างคันกั้นน้ำอุดแนวฟันหลอริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกทั้งหมด โดยจะเริ่มดำเนินการทันทีเมื่อเข้าสู่ช่วงน้ำทะเลขาลง ประมาณวันที่ 6 พ.ย.นี้" นายวีระกล่าว
อ่านๆ แล้วก็พอจะสรุปได้ว่า
1. มวลน้ำยังเหลือบนหัว กทม. อีก 2 ทัพ คือ ทัพแม่น้ำเจ้าพระยา และทัพน้ำท่วมทุ่ง โดยจะมีการทำแนวป้องกัน โดยใช้ BigBag จำนวน 440 ลูกบริเวณใกล้ประตูน้ำจุฬา ใกล้เมืองเอก ประมาณ 6 กม. โดยจะเร่งวางบิ๊กแบ็ก 440 ลูกให้เสร็จ ภายในศุกร์นี้ โดยเร่งวางแนวเชื่อมคันเดิม ทางด้านทิศเหนือกทม. ตอนนี้คืบหน้าไปแล้ว 2.5 กม.หลังจากวาง Bigbag แล้วจะต้องใช้ กระสอบทราย 6 แสนถุงวางอุดช่องว่างระหว่างบิ๊กแบ็ก หากแล้วเสร็จจะทำให้ไม่มีน้ำจากทางเหนือมาเติมทาง ถ.พหลโยธินและ ถ.วิภาวดีฯ
2. พื้นที่โอกาสรอดสูง 19 เขต คือ บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ จอมทอง ภาษีเจริญ วัฒนา ดินแดง สาทร ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย สวนหลวง ประเวศ ห้วยขวาง วังทองหลาง บางซื่อ และบางกอกน้อยบางส่วน (ผมตัด 3 เขตออก สะพานสูง บางกะปิ บึงกุ่ม ไปอยู่ข้อ 3)
3. พื้นที่เสี่ยงที่อยู่ริมคลองที่ต้องใช้ในการระบายน้ำพาดผ่าน 7 เขต คือ สะพานสูง บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดพร้าว จตุจักร คันนายาว และธนบุรี
4. พื้นที่ทางรับน้ำ 5 เขต คือ คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง หนอกจอก บางแค
5. พื้นที่รับน้ำเหนือทั้งตะวันออกและตะวันตกของ กทม. 8 เขต คือ ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางเขน บางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน และเขตหนองแขม
6. พื้นที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นจากน้ำขึ้นน้ำลง 11 เขต คือ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางรัก บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย พระโขนง คลองสาน บางนา บางกอกใหญ่
7. ปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ พลังมวลชนที่ได้รับผลกระทบ ที่อาจทลายพังแนวคันกั้นน้ำ หรือประตูระบายน้ำ
โดยข้อมูลล่าสุดของ กทม. วันที่ 3 พ.ย. 2554 พื้นที่โอกาสรอดสูง กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังและเฝ้าระวังพิเศษไปก็หลายเขต ตามรูปครับ ที่มา : เว็ปไซต์กรุงเทพมหานคร
หรือใครต้องตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ไปที่นิ่เลยครับ >> ตรวจสอบสถานการณ์น้ำล่าสุดของ กทม.
ส่วนอันนี้เห็นในบทความข่าว มีการกล่าวถึงพื้นที่ปิดล้อม อยากรู้ว่ามันคืออะไร แล้วเขตไหนมีบ้าง ไปดูกัน >> ระบบพื้นที่ปิดล้อมของ กทม. (มองไปที่เมนูด้านขวา หัวข้อ วิศวกรรมการระบายน้ำ > ระบบปิดล้อมย่อย)
ยังไงเราก็ยังคงต้องนั่งลุ้น และเป็นกำลังใจให้ กทม. ทำได้อย่างที่พูด เอร็ย.. อย่างที่วางแผนไว้ ก่อนที่น้องน้ำจะมาหาเรา โชคดีครับ...
Comments
Post a Comment