คมความคิด คมชีวิต ลีกวนยิว



วันนี้ขอพักเรื่องธุรกิจ มาฟังแนวคิดบุคคลสำคัญของโลกท่านหนึงดีกว่า เผื่อจะได้มาขยายความรู้ เพิ่มรอยหยักในสมอง หลายคนคงจะรู้จัก ลี กวน ยิว ที่เป็นถึงรัฐบุรุษคนสำคัญของสิงค์โปร์ ของเอชีย และของโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งเขาได้เปิดเผยถึงความคิด และหลักการใช้ชีวิต น่าสนใจทีเดียวนะครับ ว่าบุรุษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของโลกนั้น จะมีคมความคิด คมชีวิต อย่างไร


ท่านผู้นี้ไม่ค่อยจะเปิดเผยความในใจของตัวท่านเองมากนัก แต่เมื่ออยู่ในวัย 87 ปี อันเป็นวัยซึ่งไม่ต้องเกรงใจใครอีกต่อไป หลายสิ่งที่อยู่ในใจก็ถูกเปิดเผยออกมาสู่ชาวโลกอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องความป่วยไข้ของภรรยาคู่ชีวิต ที่แต่งงานกันมายาวนาน 


หลังจากที่ลี กวน ยิว ให้หนังสือพิมพ์ สัมภาษณ์ไม่ถึงหนึ่งเดือนภรรยาของเขาก็เสียชีวิตเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านม (ปี 2010) ใครที่ได้ย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของท่านผู้นี้อีกครั้งจะรู้สึกเห็นใจและเข้าใจในสิ่งที่ ลี กวน ยิว พูดถึงมากขึ้น 


ในบทสัมภาษณ์ลี กวน ยิว เล่าว่า ภรรยา (กวา ค๊อก ชู) ของเขานอนป่วยลุกนั่งเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว จากสโตรคหลายครั้ง เขารู้สึกลุ่มร้อนใจไม่สงบเพราะอยู่และต่อสู้เคียงข้างกันมาตลอดเวลา 63 ปี เขาจึงทดลองนั่งสมาธิวันละ 20 นาทีตลอดเวลาประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็รู้สึกว่าใจสงบขึ้น และนอนหลับได้ดีขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ คนที่แนะนำการนั่งสมาธิแก่เขานั้นล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนคริสเตียนที่เคร่งศาสนาทั้งนั้น เขาพบว่าความป่วยไข้ที่เขาประสบมานั้น โดยแท้จริงแล้ว ก็คือ that is life (เขาพูดประโยคนี้หลายครั้ง) และการที่เขารู้สึกว่ามีกำลังวังชาลดลง เจ็บปวดตามข้อตามประสาคนแก่ ก็เป็นเพราะ that is life เช่นกัน (ถ้าลีกวนยิว ศึกษาพุทธศาสนาสักหน่อย คงรู้ไปก่อนหน้านี้แล้วว่า “ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ”)


ถึงแม้ภรรยาจะนอนป่วยไม่รู้ตัวแต่เขาก็อ่านหนังสือ อ่านบทกวีให้เธอฟังทุกวัน ในห้องติดกับห้องนอนของเขา เขาคิดว่าเขาสื่อสารกับเธอด้วยใจ และคิดว่าเธอรู้เรื่องเขาบอกเธอว่าจะดูแลกันจนถึงที่สุด 


เนื่องจากทั้งสองเป็นคนไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริงไม่มีศาสนา ไม่เชื่อในเรื่องชาติหน้า เชื่อแต่เรื่องเคารพบรรพบุรุษเหมือนครอบครัวคนจีนทั้งหลายดังนั้นจึงอาจว้าเหว่บ้าง แต่เขาก็ไม่ยอมให้ใครมาชักนำไปนับถือศาสนาใดก่อนตายเด็ดขาด เพราะเขารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อของภรรยาและตัวเขามาตลอดชีวิต 


เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์แล้วจะรู้สึกว่า ลี กวน ยู อยู่ในสภาพจิตใจที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า ปลง กล่าวคือมีการยอมรับความจริงในชีวิตเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ในด้านความสุข เขาสุขใจและภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำให้แก่ชีวิตคนในสิงคโปร์ เขาตระหนักดีถึงคำวิจารณ์ตัวเขาทั้งของคนสิงค์โปร์และของโลกตะวันตกในเรื่องของการใช้อำนาจความเผด็จการของเขา ฯลฯ (เขาฟ้องผู้กล่าวหา วิจารณ์รัฐบาลหรือตัวเอยู่เสมอ) โดยหยอดคำคมจากสุภาษิตจีนที่กล่าวเอาไว้ว่า อย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าจะได้ปิดฝาโลงของเขาแล้ว 


ประโยชน์โดยตรงอย่างน้อยสามสิ่งจากบทสัมภาษณ์ลี กวน ยิว ที่ ก็คือ หนึ่งข้อแนะนำในการดื่มน้ำอุ่น ลี กวน ยิว เล่าว่า เมื่อก่อนเขาดื่มน้ำชาวันละเป็นลิตร ๆ ตอนหลังเขาจึงได้พบว่าชาเป็นสารเร่งให้ปัสสาวะมากขึ้นซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายของบางคนเสียสมดุล การดื่มน้ำเย็นอาจจะทำให้อุณหภูมิของทั้งปากและคอลดลงเป็นการลดภูมิต้านทานการเป็นหวัด การดื่มน้ำอุ่น ๆ ธรรมดาเท่ากับอุณหภูมิของร่างกายจึงมีประโยชนกว่า 


เรื่องที่สองคือเรื่องของการออกกำลังกาย เขาว่ายน้ำและขี่จักรยานอย่างสม่ำเสมอ หมอไม่ให้หยุด หากปวดเมื่อยก็ให้ประคบด้วยน้ำอุ่น และนวดอาทิตย์ละครั้งเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การปวดเมื่อยแบบคนแก่เขาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องยอมรับ 



เรื่องที่สามการเป็นสุภาพบุรุษตามประเพณีจีน คือ การมีความสามารถในการมีสติที่สงบและสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่อารมณ์เสีย และไม่พูดอะไรที่โง่เขลาเพราะความโกรธ ลี กวน ยิว บอกว่า นี่คือสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่เสมอ 


ในตอนต้นของชีวิต ผมบ้าคลั่งศรัทธาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผมไม่ชอบการห้ามเคี้ยวหมากฝรั่งในสิงคโปร์ ไม่ชอบการมีพรรคใหญ่พรรคเดียวแทบไม่มีฝ่ายค้าน ไม่ชอบอำนาจ เผด็จการ ของ ลี กวน ยิว ไม่ว่ามาโดยธรรมชาติเองหรือสร้างขึ้นมาก็ตาม ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ชอบแต่ผมเข้าใจบริบทของการเกิดสถานการณ์เช่นนี้มากขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่า ลี กวน ยิว สามารถเปลี่ยนแปลงซากอาณานิคมล้าหลังหนึ่งให้กลายเป็นประเทศที่พลเมืองมีความกินดีอยู่ในระดับต้นของโลกได้ในหนึ่งชั่วคน มีแต่คนที่รู้สึกทึ่งในตัวคน คนนี้ หลายคนอาจจะบอกว่าขนาดของประเทศและของประชาชนมีส่วนช่วย แต่ผมก็เห็นประเทศขนาดนี้จำนวนมากมายในโลกที่ยังยากจนอยู่อย่างน่าตกใจ 


สิงคโปร์นั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศเดียวกับมาเลเซียและถูกเขี่ยออกมาเมื่อปี 1965 โดย ตวนกู อับดุลรามาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บทสัมภาษณ์สะท้อนภาพถึงความเจ็บปวดของเขาในเรื่องนี้ เขาเชื่อว่าถ้ายังอยู่ด้วยกัน ป่านนี้มาเลเซียก็จะไม่เป็นดังที่เห็นในปัจจุบันกล่าวคือ คนมาเลย์ถือว่าตัวเองเป็น ภมิบุตรา (ลูกของแผ่นดิน) คุมตำแหน่งใหญ่ ๆ ทุกตำแหน่ง คนจีน คนอินเดียและอื่น ๆ ซึ่งรวมกันมีถึงเกือบร้อยละ 50 เป็นคนแปลกแยกไป แบบว่าต่างคนต่างอยู่ โรงเรียนใครโรงเรียนมันต่างสอนภาษาของตัวเองขาดความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


ลี กวน ยิว บอกว่าสิงคโปร์นั้นเป็นตรงกันข้ามการรวมกันเป็นวัฒนธรรมสิงคโปร์ หนึ่งเดียวของคนอินเดีย คนมาเลย์และคนจีน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ เขาไม่ยอมให้แยกกันอยู่มีสัดส่วนของกลุ่มชนอื่น โรงเรียนก็ไม่แยกกันและเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของประเทศ ลี กวน ยิว ภาคภูมิใจกับการวางรากฐานของประเทศสำหรับคนรุ่นต่อไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นพหุวัฒนธรรม 



ลี กวน ยิวนั้นฉลาดและเก่งกาจในการต่อสู้กับผู้คนที่ไม่เห็นด้วย จนทำให้เกิดความกลัว ในหมู่คนที่ไม่เห็นด้วยและอยู่ตรงกันข้าม ภาพของ ลี กวน ยิว นั้นใหญ่โตและน่าเกรงขามสำหรับคนสิงคโปร์ เขามีทั้งคนที่รักและคนที่เกลียดไม่น้อยในโลก 


เรื่องล้อเลียนความใหญ่โตของ ลี กวน ยิว ที่เคยได้ยิน มีดังนี้ ครั้งหนึ่ง พระราชินีอังกฤษพระราชทานขนแกะดิบก้อนใหญ่ให้ลี กวน ยิว เขาเรียกช่างตัดเสื้อชาวสิงคโปร์มาแล้วถามว่า ถ้าเอาไปทอเป็นผ้าและตัดสูตรจะได้กี่ชุด ช่างก็บอกว่า 3 ชุด ลี กวน ยิว ไม่เชื่อจึงเอาไปถามช่างตัดเสื้อฮ่องกง ช่างก็บอกว่าตัดได้ 6 ชุด ลี กวน ยิว ก็เกิดความสงสัยว่าทำไมจึงได้แตกต่างกันนัก เขาจึงหอบขนแกะนี้ไปถามช่างตัดเสื้อชาวอังกฤษ ช่างบอกว่าตัดได้ 9 ชุด ลี กวน ยิว จึงถามว่าทำไมช่างสิงค์โปร์บอกว่า 3 ชุด ช่างฮ่องกงบอกว่า 6 ชุด และยูบอกว่า 9 ชุดละ ช่างตัดเสื้อชาวอังกฤษจึงตอบว่า “เมื่อยูอยู่ห่างจากประเทศของยูเท่าไหร่ ตัวของยูก็จะยิ่งเล็กลงเท่านั้น”



ที่มา : มติชน

Comments