ทิศทางและสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ในมุมมองโชค บูลกุล (Thailand Tourism Outlook)

ถ้าพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจหรือสถานการณ์อะไรก็ตาม คุณโชคคิดว่าการที่จะสามารถฟันธงลงไปได้ว่าจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก บางเรื่องก็ต้องแล้วแต่ว่าใครเป็นคนมอง ส่วนสถานการณ์ ท่องเที่ยวในปีหน้าของประเทศไทยเรานั้น มันอยู่ที่ว่าใครคือลูกค้าเรา

ซึ่งถ้าถามว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวของตลาดคนไทยเราในปีหน้า เป็นอย่างไรนั้น คิดว่าน่าจะดีโดย คุณโชคพิจาณาจากลูกค้าของฟาร์มโชคชัย ที่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน)มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศอาจจะลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น หากธุรกิจของเราได้ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นว่าถ้าเราไม่ได้ลูกค้าต่างประเทศ แล้วคนไทยจะยังมาอุดหนุนสินค้าเราหรือไม่ ถ้าตอบโจทย์ตรงนี้ เราก็สามารถยังมีตลาดท่องเที่ยวในประเทศรองรับอยู่ เพื่อรักษาธุรกิจของเราให้อยู่ต่อไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะทำได้ดังกล่าว ถึงแม้จะมี campaign ให้รณรงค์ไทยเที่ยวไทย แต่ปัญหาคือ สินค้าของเราตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยของเราจริงหรือไม่ เพราะบางสินค้าอาจจะทำให้เฉพาะชาวต่างชาติอย่างเดียว ซึ่งคนไทยอาจจะไม่สนใจ

ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวปีนี้ เท่าที่คุณโชคประเมินได้ ในช่วงสิ้นปี น่าจะดีกว่าช่วงสิ้นปีของปี 2551 ในส่วนของฟาร์มโชคชัยในช่วงนี้ ก็มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้นผิดปกติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนเริ่มที่จะรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอย มั่นใจมากขึ้น แต่ในส่วนของฟาร์มโชคชัย จะมีข้อได้เปรียบตรงที่ว่า ใกล้กับกรุงเทพซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ เพราะคนที่จะต้องท่องเที่ยวจะคำนึงถึงระยะเวลาการเดินทางเป็นสิ่งสำคัญ

ฉะนั้น ถ้ามองย้อนกลับไปที่ยุทธศาสตร์ที่จะให้ทุกจังหวัด ทุกหมู่บ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ โดยคุณโชคได้ยกตัวอย่างสินค้าญี่ปุ่นที่แต่ละตำบลมีการออกผลิตภัณฑ์ออกมานั้น จะเห็นได้ว่าดูมีคุณค่าในสายตาของลูกค้า เพราะทุกคนรู้สึกว่ามันเป็น Niche Product ของแต่ละตำบลจริงๆ ซึ่งสินค้า OTOP ของญี่ปุ่นมีคุณค่าถึงกับต้องแย่งกันซื้อกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเทียบกับ OTOP ของไทยเรานั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในจำพวกสินค้าช่วยกันซื้อ ช่วยกันอุดหนุนหน่อย ซึ่งมันผิดยุทธศาสตร์ มันไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ คุณโชคยังให้ความเห็นไปถึง อุตสาหกรรมการบริการของประเทศไทยเรานั้น ยังมีหลายมาตรฐาน ซึ่งจิตวิญญาณการให้บริการของเราจะขึ้นอยู่กับกำลังจ่ายของลูกค้า ซึ่งคุณโชคกำลังจะเขียนบทความในเรื่องเกี่ยวกับคน 3 คน คือ Operator, รปภ., และคนขับรถ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้คุณโชคมองว่าจะเป็นผู้ชี้สันดานขององค์กรเลยก็ว่าได้ หมายความว่า คนสามกลุ่มนี้ ถ้าคุณเห็นว่าเขาเป็นอย่างไรนั่นแหล่ะคือวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสามตำแหน่งจะเป็น Contact point แรกๆ ที่สำคัญ

กลับมาในเรื่องการท่องเที่ยว ประเด็นหนึ่งที่ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน คือ การต้องมีเจ้าภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แม้จะมี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่เราก็ยังไม่มั่นใจในเรื่องของบทบาท ทำอะไรในการช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง ดังนั้น พอยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจน กระบวนการ การคิดในการพัฒนาสินค้าที่จะตามมา มันก็ไม่สามารถสร้างความแตกต่าง (Differentiate) ได้

เนื้อหาที่เกี่ยวกับ โชค บูลกุล :
การเติบโตของแหล่งท่องเที่ยวของหัวหินและเขาใหญ่ (Huahin and Khaoyai)
การหาตำแหน่งทางการตลาด (Positioning)
How to build Umm!..Milk brand โดยโชค บูลกุล

Comments