ดู Avatar แล้ว จะเข้าใจ Soft Side Management มากขึ้น ตอนที่ 1

จากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศของเราในช่วงกลางเดือนตุลาคม ถึงช่วงต้นของเดือนพฤศจิกายน อีกทั้งการเกิดสึนามิ และภูเขาไฟระเบิด ในพื้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่นับรวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงบทความหนึ่งของ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ที่ได้เคยเขียนบทความที่พูดถึงหลักการบริหารแนวสมดุล ผ่านหนังเรื่อง Avatar ซึ่งบทความดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยตรง แต่สิ่งที่ ดร.วรภัทร์ ได้สื่อไว้นั้น เหมือนจะพยายามบอกให้ทราบว่า ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้มนุษย์บนโลกได้รู้ว่า ธรรมชาติกำลังเคลื่อนตัว เพื่อปรับไปสู่ความสมดุลอีกครั้งหนึ่ง แฮะๆ ผมร่ายมาซะยาว ไปลองอ่านกันดูดีกว่าครับ (ผมขอตัดเนื้อหาออกไป 3 ตอนนะครับเพราะมันยาวมาก)

ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปดูภาพยนตร์ที่หลายคนถ้าไม่รู้จักการบริหารแนวสมดุล Hard & Soft Side ก็คงจะได้แต่ความมันส์เท่านั้นเอง หลายคนก็บอกว่า หนังเรื่องนี้เป็นพล็อตเรื่องเดิมๆ แนวทหารม้าอเมริกันเข้าไปถล่มชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันอินเดียนไม่เห็นจะแปลกเลยแต่ผมชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว แทบจะร้องดังๆ ว่า “มาแล้ว …” หนังสือทุกเล่มที่ผมได้เขียนๆ เอาไว้ แทบจะโดนหนังเรื่องนี้นำเอามาอธิบายได้อย่างสนุกสนาน

แนวการบริหารแบบสมดุลชีวิตกำลังมาแล้ว น่าสงสัยผู้บริหารในประเทศไทยหลายคน ที่ยังไม่ขยับความคิดเลยว่า แนวการบริหารแบบเดิมๆ ของตนตก Trend เสียแล้วนะ ผู้บริหารแนวงกๆ เค็มๆ บ้า KPI จิกหัวพนักงานใช้ เห็นคนเป็นหมากตัวหนึ่งบนกระดานแข่งขัน ไม่เห็นคนเป็นคน คงต้องสำรวจตนเองมากขึ้นได้แล้วชาวบ้าน และชุมชนในประเทศไทยคงไม่เสียรู้ปล่อยให้นายทุนต่างชาติมาสร้างโรงงานแล้วทิ้งมลภาวะ โดยผู้บริหารงกๆเค็มๆ ของไทยเราทำหน้าตาเฉยอ้างว่า “ก็ผมทำตามกฎหมาย” ได้อีกแล้ว

ข้อสังเกตที่ได้จากหนังเรื่อง อวตาร ในมุมของนักบริหาร ที่ผมคิดๆ เอาไว้คร่าวๆ เช่น


๑. การบริหารสมัยใหม่ ใช้แนวคิดเชิง “อยู่รอด+อยู่ร่วมกัน+อยู่อย่างมีความหมาย” ไม่ใช่ ฉันรอดคนเดียว ฉันมีเงิน พรรคพวกฉันร่างกฎหมายเอง ฉันมีปืน ฉันมีอำนาจ ฯลฯ “ฉันอยากได้อะไร ฉันต้องได้” ซึ่งคำพูดแบบเห็นแก่ตัว หรือมองไม่เห็นตนเอง มองไม่เห็นคนอื่น ปรากฏในหนังเรื่อง “อวตาร” นี้บ่อยมาก เนื้อหาในหนัง แสดงให้นึกถึงว่าพวกเราชาวโลกเป็นตัวประหลาด เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ยาก ทำลายดาวโลกของตนเองแล้วยกพวกมาบุกรุกดาว “แพนโดร่า” ที่มีแร่ธาตุราคาแพง และมี “วัฒนธรรม” (Culture) ซึ่งเจ้านายงกๆ เค็มๆ มองไม่เห็นความสำคัญ เพราะพวกชนเผ่าของดวงดาวแพนโดร่านั้น เรียนรู้และสมดุลกับธรรมชาติได้ดียิ่ง ทำให้นึกถึงภาพนายทุนที่บอกว่า ที่ดินตรงนี้เหมาะกับการทำโรงงาน แล้วก็ไล่ชาวนาออกไปจากผืนดินที่เหมาะกับการทำนาที่สุดในโลกออกไป ไล่ชาวประมงออกไป ไล่ชาวบ้านออกไป เพราะที่ตรงนี้สามารถส่งพลังงานไปให้คนในเมืองใหญ่ได้ใช้ แต่ชาวบ้านตรงนี้ต้อง “เสียสละ” เจอมลภาวะหน่อยนะ

ในหนังอวตาร อดีตนางเอก Sigourney Weaver ได้บอกพวกผู้บริหารมืออาชีพว่า “แร่ราคาแพง ที่ต้องแลกมาด้วยการตัดไม้ใหญ่ การฆ่า หรือขับไล่ชนพื้นเมือง มีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับชุดความรู้ที่เรากำลังจะได้จากธรรมชาติ” เพราะต้นไม้ใหญ่นั้น เปรียบเสมือนเครือข่าย (Network) ที่เชื่อมโยงกับต้นไม้ทุกต้นบนดวงดาวแพนโดร่า ธรรมชาติพัฒนาไปไกลกว่าวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะเข้าถึง การที่จะทำลายระบบนิเวศน์ตรงนั้น เพียงเพื่อขนแร่ธาตุราคาแพง เป็นแค่ความ “มักง่าย” หรือ “ฉลาดแต่ไม่เฉลียว”

สุดท้าย ผู้บริหารที่มาแนว Hard Side สุดโต่ง อ้าง KPI และ BSC ว่าต้อง “เอาแร่นั้นมาให้ได้” เป็นคำสั่งจากเจ้าของธุรกิจ “เราต้องได้ ในสิ่งที่เราต้องการ” พวกเขาจึงส่งทหารรับจ้างเข้าไปกวาดล้างชนเผ่านาวี (Navi) ทั้ง เด็กคนชรา ผู้หญิงตายไปมากมาย

นึกถึง ผู้บริหาร งกๆ เค็มๆ ที่ฉันต้องได้ตาม KPI ของฉัน บรรทัดสุดท้ายของฉัน คือ กำไร พนักงานคนไหนจะเดือดร้อน ทำงานกะติดกัน ฯลฯ พร้อมทั้งมีทัศนคติแบบ งกๆ เค็มๆ เช่น เจ็บป่วยก็ไปเบิกค่ารักษาเอา ใครทำไม่ได้ก็ลาออกไป มีคนอยากมาทำแทนมากมาย งานมาก่อนครอบครัว บริษัทต้องได้ตามเป้าหมายอย่ามาอ้างว่าลูกเมียไม่สบาย เงินของฉันแลกอวัยวะของเธอ (เจอสารพิษทั้งวันในโรงงาน) ฉันทำตามกฎหมาย สารพิษอยู่ในค่าที่กฎหมายอนุญาต ฯลฯ

Comments