Shopping ลดโลกร้อนกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ตอนที่ 1



วันก่อน ได้ฟังรายการ Business Connection ช่วง Guru Station ที่จะมีเฉพาะเดือน พ.ย.-ธ.ค. ที่ทางรายการเชิญ ดร.ธีระพล เตชะวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริ้นท์ ซิตี้ จำกัด มาพูดเกี่ยวกับ Green Printing ทำให้ผมได้ยินคำว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เป็นครั้งแรก ซึ่งตอนแรกก็งงครับ ว่ามันคืออะไร เพราะเคยได้ยินแต่คำว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ก็เลยลองหาข้อมูลดู จึงพบว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเราและเกี่ยวข้องต่อการดำเนินชีวิตของเรามากทีเดียวครับ เลยอยากนำบทความดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อ เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านท่านอื่น ที่อาจจะไม่เคยได้ยินคำนี้ (เหมือนผม) หรือเคยได้ยินแล้วแต่ไม่รู้มันคืออะไร แล้วไอ้การ shopping ของเรามันมาเกี่ยวอะไรด้วย แล้วจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร ติดตามอ่านได้เลยครับ (ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ตอนนะครับ เนื่องจากเนื้อหามันค่อนข้างยาวทีเดียว)


Shopping ลดโลกร้อนกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)

ตอนที่ 1 :  คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คืออะไร

ตอนที่ 2 : ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ (Carbon Footprint Label)

ตอนที่ 3 : ประโยชน์ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์



คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คืออะไร 



ในภาวะโลกร้อนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญคงหนึไม่พ้นเกิดจากกิจกรรมต่างของมนุษย์เรานั่นเอง ทั้งจากการใช้พลังงาน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติเช่น การตัดไม้ทำลายป่า การขนส่ง และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และในปัจจุบันเราจะพบว่าในหลาย ๆ ประเทศได้มีความตื่นตัวในเรื่องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่ให้ความสนใจก็คือ การที่จะร่วมมือกันผลิตและบริโภคผลิตัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีทั้งการเชิญให้ผู้ผลิตได้เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และเชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์อีกด้วย



คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คืออะไร

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint, CF) คือ การวัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases, GHGs) จากกระบวนการผลิตสินค้าตลอดวัฎจักรชีวิต (Product Life Cycle) โดยเริ่มตั้งแต่ การจัดหาวัตถุดิบนำไปแปรรูป ผลิต จดจำหน่าย การใช้งาน และการจัดการหลังจากผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หมดสภาพการใช้งานแล้ว โดยแสดงข้อมูลไว้บนฉลากคาร์บอน (Carbon Labeling) ติดฉลากบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภั.ณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด คาร์บอนฟุตพริ้นท์นี้ได้ถูกแนะนำขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ภายใต้การกำกับดูแลของ Carbon Trust


ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มาอย่างไร


ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้จากการวัดหรือการคำนวณหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ทั้งหมดในหน่วยกิโลกรัมหรือตัน ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KgCO2 equivalent หรือ tonCO2 equivalent) การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะต้องทำการพิจารณาจากกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ


1. การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Primary Footprint) 

เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้านั้น ๆ โดยตรง เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตและการขนส่งทั้งโดยรถบรรทุก ทางเรือ และทางอากาศ



2. การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อม (Secondary Footprint) 

เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้สินค้าตลอดจนการจัดการซากสินค้าหลังการใช้งาน ดังตัวอย่างแสดงค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบจากบริษัท Walkers Snacks ซึ่งพบว่ามีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 80 กรัม โดยในแต่ละขั้นตอนมีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แสดงดังภาพ
Walker Carbon Footprint

Comments