Shopping ลดโลกร้อนกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ตอนจบ



Shopping ลดโลกร้อนกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)

ตอนที่ 1 :  คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คืออะไร

ตอนที่ 2 : ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ (Carbon Footprint Label)

ตอนที่ 3 : ประโยชน์ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์




ประโยชน์ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์


ควรใช้คาร์บอนฟุตพริ้นทร์ กับผลิตภัณฑ์ชนิดใด?

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ นอกจากจะสามารถใช้ได้กับการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ยังสามารถทำการประเมินได้ ในลักษณะการให้บริการ และระดับองค์กรอีกด้วย ซึ่งการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ ทั้ง 3 ระดับนี้ มีวัตถุประสงค์ต่างกัน

1. ระดับผลิตภัณฑ์ 


เป็นการใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นทร์สื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค โดยแสดงไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีการใช้ในหลายประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ


2. ระดับการให้บริการ 


เช่น ในบางสายการบินเริ่มมีการประกาศคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ของตัวเอง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดจากการเดินทางของตน

3. ระดับองค์กร 


โดยองค์กรอาจคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ของตน แล้วจัดพิมพ์ลงในรายงานประจำปี (Annual Report) หรือรายงานสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรในการมีส่วนร่วมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


คาร์บอนฟุตพริ้นทร์ มีประโยชน์อย่างไร? ทำแล้วจะได้อะไร?

คาร์บอนฟุตพริ้นทร์เป็นข้อมูลที่นำมาใช้กับการสื่อสารข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างองค์กรทางธุรกิจ หรือเป็นการสื่อสารไปยังผู้บริโภค โดยมีการแสดงปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ ลงบนฉลากของผลิตภัณฑ์ของตน ข้อมูลนี้จึงถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขายสินค้าแก่กลุ่มผู้ซื้อที่มีจิตสำนึกสูงต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ตรวจสอบข้อมูลว่าผู้ผลิตได้ใส่ใจในภาคการผลิตต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือต่อปัญหาโลกร้อนมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตด้สนพลังงาน นอกจากนี้หากภาคธุรกิจที่มีการแสดงข้อมูลของคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ก็จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์สินค้าได้เป็นอย่างดี ตลอดจนทำให้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น


บริษัทในประเทศไทย ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นทร์

สำหรับประเทศไทยมีรายชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นทร์แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 22 บริษัท เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2553) เช่น

• กระเบื้องเซรามิคบุผนัง คอตโต ของบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด
• ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโคคา-โคล่า ชนิดบรรจุกระป๋อง ขนาด 325 cc ของบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
• เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้ำใส มาม่า ขนาดบรรจุ 55 กรัม ของบริษัท เพรสซิเดนท์ไรซ์-โปรดัก จำกัด (มหาชน)
• เนื้อไก่สด CP ขนาดบรรจุ 1,000 กรัม ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาการ จำกัด (มหาชน)


บทสรุป

คาร์บอนฟุตพริ้นทร์ แม้ว่าจะเป็นมาตรการสมัครใจ แต่ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ส่งผลต่อการค้าอย่างแน่นอน การแข่งขันในตลาดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของสินค้า การบริการ ราคา และคุณภาพ เพียงเท่านั้น สินค้าหรือบริการใดที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นการช่วยสร้างจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่งขันอีกด้วย ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ จึงเป็นข้อมูลที่มีส่วนสำคัญที่เราควรให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น หากจะเลือกซื้อสินค้าในครั้งต่อไปก็อย่าพิจารณาเพียงแค่ คุณภาพและราคาเท่านั้น เราควรพิจารณาว่าสินค้านั้นมีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นทร์แสดงอยู่หรือไม่ การเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย จึงถือได้ว่าพวกเราทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

เรียบเรียงโดย วริศรา แสงไพโรจน์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
จบแล้วครับสำหรับบทความเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพรินทร์ที่นำมาฝากกัน เพื่อนๆ คงพอจะเข้าใจแล้วใช้ไหมครับว่ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เพราะต่อไปในอนาคตเวลาเราจะซื้อของแต่ละอย่างเราคงจะต้องพิจารณาในเรื่องการมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยอาศัยเจ้าตัวฉลากคาร์บอนฟุตพรินทร์ ประกอบการตัดสินใจไปด้วย เลยกลายเป็นว่าคนที่ชอบ shopping ก็สามารถสนุกกับการ shopping แล้วแถมยังช่วยลดภาวะโลกร้อนไปในตัวด้วย เยี่ยมจริงๆ ครับ

แต่เอ่ะ ถ้าเราอยากรู้ว่าในแต่ละวัน เรามีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร พูดง่ายๆ ก็คือการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินทร์ของตัวเองว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เผื่อในอนาคตอาจจะมีฉลากคาร์บอนฟุตพรินทร์สำหรับไว้ติดมนุษย์ เพื่อบอกว่าแต่ละคนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนก็ได้นะครับ ไปคำนวณลองดูกันเลยครับ ที่นิ่ Thai Carbon Footprint Calculator

Comments