โชคดีแค่ไหนที่ประเทศไทยมี'ในหลวง'


ที่มา : ภาพจาก นสพ.คมชัดลึก

"เป็นไงบ้าง บ้านน้ำท่วมหรือเปล่า" ตอนนี้คงเป็นคำถามและคำทักทายยอดฮิต โดยเฉพาะคน กทม. ที่ในช่วงนี้กำำลังลุ้นระทึกและใจจดจ่ออยู่กับข่าวน้ำท่วม โดยเฉพาะตอนนี้ที่น้ำเข้ามาจ่อคอหอยเตรียมถล่มกรุงกันแล้ว บางคนถึงกับกลัว กังวล ตระหนก จิตตก วันๆ ไม่มีใจนั่งทำงานกันเลยทีเดียว ยิ่งได้ดูภาพแผนที่ที่มีปริมาณน้ำมากมายล้อมรอบ กทม. และทางตอนบนกทม. ที่มียังคงมีน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่า กทม. คงรอดยาก ผมก็นั่งเบลอ นั่งคิด นั่งกังวลอยู่นานสองนาน แต่แล้วความเบลอก็จางหาย หลังได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งใน นสพ.คมชัดลึก จำไม่ได้ว่าของวันไหน ในเรื่อง "โชคดีแค่ไหนที่ประเทศไทยมี'ในหลวง' " ทำให้ตั้งสติ และมีกำลังใจขึ้นมาได้บ้าง เลยอยากจะนำบทความชิ้นดังกล่าวมาฝากเพื่่อนๆ กันครับ เพื่อจะได้สติ มีกำลังใจสู้ต่อไป เช่นกัน

โชคดีแค่ไหนที่ประเทศไทยมี'ในหลวง' : ขยายปม โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์

ได้เห็นอาการ "สะอื้นไห้" ของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี "พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า" หลังตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับกระแสข่าวอาจถูกย้าย เนื่องจากแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่เข้าตารัฐบาล จนเจ้าตัวถึงกับออกอาการเหมือนมี "ก้อนสะอื้น" จุกอยู่ที่ลำคอ "เพียงขอให้จังหวัดผมรอดพ้นน้ำท่วม แม้จะถูกย้ายผมก็ไม่เสียใจ"

บทบาท "พ่อเมือง" แต่ละจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ได้รับเสียงชื่นชมความเป็น "ผู้นำ" ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามต่อสู้เพื่อรักษาเมืองและพลเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย

"ปทุมธานี" เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้รับแรงกดดันมากกว่าจังหวัดอื่น เพราะเปรียบเป็นเมืองหน้าด่านก่อนน้ำจะไหลเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร

และต้องพยายาม "รับมือ" กับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ให้ผ่านพ้นวันที่ระดับน้ำจะขึ้นสูงสุดคือวันที่ 14-17 ตุลาคม และวันที่ 28-31 ตุลาคมนี้ ไปให้ได้

ความไม่มั่นใจในการรักษาเมืองหลวงของประเทศไทย "กรุงเทพมหานคร" ไม่เฉพาะ "ผู้ว่าฯ พีระศักดิ์" เท่านั้นที่แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะอยู่และสู้กับภัยพิบัติ

แม้กระทั่ง "นายกรัฐมนตรี" และรัฐมนตรีคนอื่นๆ เองก็ถึงกับ "ถอดใจ" ว่าจะสามารถป้องกันน้ำที่จะเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครไว้ได้

"นายกฯ ยิ่งลักษณ์" แม้จะกลับไปพักผ่อนอยู่ที่บ้านแล้ว เวลามีเสียงโทรศัพท์เข้ามาที่บ้านยังเกิดอาการผวา เพราะโทรศัพท์ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะแจ้งว่าน้ำเข้าที่นี่ที่นั่น ทำให้เกิดอาการเครียด

ขณะที่ "ประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม" (ศปภ.) "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม ก็ยังแถลงยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมปทุมธานีรุนแรงมากขึ้น จึงไม่กล้ายืนยันว่ากรุงเทพฯ ชั้นในจะปลอดภัยจากอุทกภัยครั้งนี้

ก็ขนาดแม่ทัพนายกองยัง "ถอดใจ" จึงไม่ต้องถามถึงขวัญและกำลังใจของชาวบ้าน ต่างพากันแตกตื่น ซื้อข้าวของกักตุนกันเป็นจำนวนมากสังเกตได้จากร้านโชห่วย หรือห้างสรรพสินค้า อาหารแห้งในแต่ละวันแทบไม่เหลือตามชั้นวางสินค้า

จะมีก็เพียง "ณรงค์ จิรสรรพคุณากร" ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักระบายน้ำ กทม. ที่กล้ายืนยันว่า กทม.น้ำไม่ท่วมร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดเอาหัวเป็นประกัน เพราะ กทม.ได้สร้างแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริล้อมเมืองไว้ มีความยาว 77 กิโลเมตร โดยสร้างเป็นเขื่อนถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก และลงเสาเข็มความลึกกว่า 25 เมตร ไม่ใช่แค่แนวคันดินชั่วคราวเหมือนที่อื่น

การสู้กับภัยธรรมชาตินอกจากยากลำบากแล้ว การทำความเข้าใจกับคนที่ได้รับข้อมูลเพียงครึ่งเดียว และสู้อยู่กับปัญหาตรงหน้า ทำให้ "ขาดสติ" เจรจาให้เข้าใจได้ยากยิ่งกว่า

จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพชาวบ้านที่บริเวณหน้าหมู่บ้านกฤษณา 8 ช่วงถนนปทุมธานี-สามโคก ต.กระแชง อ.สามโคก รวมตัวกันรื้อคันกั้นน้ำ เพราะรับไม่ได้กับสภาพน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่ยืดเยื้อมานาน ขณะที่ชาวบ้านอีกฝั่งถนนยังสามารถสัญจรได้ตามปกติ
เมื่อการบริหารจัดการของรัฐบาลไม่ได้สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนพื้นที่น้ำท่วมหลายจุด จึงเกิดปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านขึ้น

และดูเหมือนทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติจนกระทั่งมีข่าว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์น้ำท่วมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อค่ำวันที่ 12 ตุลาคม มีพระราชกระแสรับสั่งให้ความสำคัญในการเร่งระบายน้ำด้านตะวันออกสู่ทะเลและเร่งขุดคลองเพื่อระบายน้ำให้เต็มที่ ส่วนด้านตะวันตกก็ให้หาพื้นที่หรือคลองในการระบายน้ำ

เพียงข้ามวัน "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยัน "กรุงเทพมหานครปลอดภัย" โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน หลังจากบินสำรวจเส้นทางระบายน้ำฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำท่าจีน

โดยสั่งการให้ กองทัพบก กระทรวงคมนาคม และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขุดลอก ขยายคูคลอง ทั้งหมด 4 คลอง ได้แก่ คลองงิ้วราย คลองทรงคนอง คลองท่าข้าม และคลองสุนัขหอน เพื่อเร่งระบายน้ำกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกลงสู่ทะเลให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายใน 5 วัน และให้เสร็จก่อนน้ำเหนือไหลลงสู่กรุงเทพฯ พร้อมมอบหมาย "กองทัพบก" หาเส้นทางลัดระบายน้ำ เช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ โดยจะขุดคลองปลายทางให้น้ำไหลลงสู่โครงการแก้มลิงมหาชัย และสนามชัย เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนทุกพื้นที่

แทบไม่น่าเชื่อว่าหลังรัฐบาลแทบถอดใจในการหาวิธีป้องกันน้ำเข้ากรุงเทพฯ เพียง "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งมาปฏิบัติ ก็ทำให้รัฐบาลมีความหวังและกำลังใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกครั้ง

โชคดีแค่ไหนที่ประเทศไทยมี "ในหลวง"

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก

หลังจากไ้ด้อ่านบทความผมเลยไปลองหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ ดังกล่าว



ที่มา : สำนักการระบายน้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคันกั้นน้ำ โดยคันกั้นน้ำ จะเป็นเขื่อนถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก และลงเสาเข็มความลึกกว่า 25 เมตร ถ้าดูตามแนวคั้นกั้นน้ำทางด้านฝั่งตะวันออกก็คือ ถ.ร่มเกล้า และ ถ.นิมิตรใหม่ ทางด้านฝั่งตะวันตกก็จะมี ถ.ศาลาธรรมสพณ์ เป็นคันกั้นน้ำ

คำถามคือ คันกั้นน้ำถาวรของ กทม. รับแรงปะทะได้ขนาดไหนถ้ามีมวลน้ำขนาดใหญ่มา?!!!
เขื่อนของเราไม่ได้ขวางทางน้ำ เราสร้างตามลำน้ำ แรงปะทะของเราจะไม่มี เราไม่ได้กั้นแม่น้ำ เรากั้นตามยาว เราไม่ได้สร้างขวาง แต่สร้างตามแรงไหลของน้ำ
คุณณรงค์ จิรสรรพคุณากร ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักระบายน้ำ กทม. ได้เคยชี้แจงไว้

ส่วนอันนี้เป็นภาพแสดงแนวคันกั้นน้ำและระดับพื้นที่ใน กทม. และปริมณฑล (เอาให้ชัดๆ กันไปเลยว่าบ้านเรามันสูง ต่ำ อยู่ในระดับไหน)

ที่มา :กรมแผนที่ทหาร

ดูแล้ว แถวบ้านผมนิ่ อันดับสองนะเนี่ยะ ไม่ใช่สูงสุดเป็นอันดับสองนะ แต่ต่ำสุดเป็นอันดับสอง 555 เอาวะ...เตรียมเก็บของ

ส่วนใครเห็นไม่ชัดเจนมีภาพขนาดใหญ่ ไปโหลดกันได้ คลิ๊กเลย

ส่วนนี้เอามาฝาก link สำหรับตรวจสอบข้อมูลน้ำท่วมกัน (หลายๆ ที่เพื่อนๆ คนจะรู้อยู่แล้ว) เพราะคน กทม. ตอนนี้อาจจะยังไม่จมน้ำ แต่ตอนนี้กำลังจมข่าว สำลักข่าวกันก็มาก ฟังข่าวหรือได้ยินไรมา ลองมาตรวจสอบกันดูอีกที

1. รายงานสถานการณ์แนวป้องกันน้ำท่วมของคลองประปา

2. สำนักงานการระบายน้ำ หน้าแรกเขาจะมีทำรายงานสรุปสถานการณ์น้ำไว้ให้

3. ระบบตรวจวัดระดับน้ำในคลองหลัีก กทม.

4. ระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน กทม.

5. ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคกลาง (ไว้เช็คว่าน้ำจากเขื่อนเป็นอย่างไร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน และความสูงอยู่เท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้อาจจะช้าไปแหล่ะ เพราะน้ำมันลงมา กทม. แล้ว) ให้ไปที่ ข้อ 4.สภาพน้ำท่า >> ตารางข้อมูลน้ำท่ารายวัน ซึ่งจะดูตรงสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันนี้ (20/10/2011) ความสูงอยู่ที่ 26.70 ม. และมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 4,380 ลบ.ม./วินาทิ แล้วก็มาดูตรง บางไทร อยุธยา และแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เราก็จะเห็นภาพปริมาณน้ำคร่าวๆ ว่าจะมีมาอีกหรือไม่

6. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผื่อใครอยากจะช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็ไปบริจาคกันได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย สำนักพระราชวัง ชื่อบัญชี “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” ออมทรัพย์ เลขที่ 401-6-36319-9
ธนาคารทหารไทย สาขาย่อย สำนักพระราชวัง ชื่อบัญชี “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” ออมทรัพย์ เลขที่ 0462447772

Comments