The IKEA Effect ตอนจบ

หลังจากที่บทความก่อนหน้า เราได้รู้แล้วครับว่ารูปแบบของ IKEA ที่จะเปิดในไทยเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมาดูกันต่อว่า แบรนด์เจ้าถิ่นรายใหญ่อย่าง SB Furniture และ Index Living Mall จะมีกลยุทธ์ในการรับมืออย่างไร

เอส.บี. เฟอร์นิเจอร์ - อินเด็กซ์ ใช้บริการเข้าสู้

แน่นอน การมาของ IKEA ย่อมกระทบกับ 2 ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ และ เอส.บี. เฟอร์นิเจอร์ แบรนด์ไทยที่ครองตลาดเฟอร์นิเจอร์มานาน

เพราะคู่แข่งตัวกลั่นในสังเวียนระดับโลกอย่าง Ashley, Galiform และ Wal-Mart ก็ถูก IKEA ดับรัศมีมาแล้ว

เอส.บี. เฟอร์นิเจอร์นั้น ดูจะเคลื่อนไหวมากกว่าเพื่อน ด้วยการรุกเพิ่มสาขา S.B. Design Square ซึ่งเป็น Flagship Store รวมสาขาในรูปแบบนี้ทั้งหมด 6 สาขากระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะสาขาล่าสุดที่โครงการคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ ย่านเอกมัย-รามอินทราที่มีพื้นที่ 10,000 ตร.ม. กับการลงทุน350 ล้านบาท พร้อมผนึกกำลัง 2 พรีเซ็นเตอร์ดัง แอฟ-ทักษอร และ เคน -ธีรเดช เข้าด้วยกันเพื่อโปรโมตสาขาใหม่นี้ (อันนี้ ผมขอ update ข้อมูลล่าสุดเพิ่มเติมนะครับ โดยสาขาล่าสุด คือ S.B. Design Square บางนา กม.4 มีพื้นที่กว่า 15,000 ตร.ม. กับการลงทุนไปกว่า 800 ล้านบาท โดยใช้ 2 พรีเซ็นเตอร์ชื่ิอดัง แอฟ-ทักษอร กับ ชมพู่-อารยา โปรโมตสาขาบางนานี้ )



สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทั้ง 2 ผู้เล่นรายใหญ่ของไทยได้เตรียมการรับมือ IKEA มาล่วงหน้าพอสมควร ทั้งการพัฒนาสินค้า ตามเทรนด์โลก และพัฒนา Loyalty Program ตลอดจนการเปิดสาขาใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่และมีสินค้าให้เลือกมากยิ่งขึ้น จัดส่งสินค้าฟรี มีบริการติดตั้ง และที่ปรึกษามัณฑนากรของ S.B. Furniture และการออกแบบตกแต่งห้องแบบ 3 มิติ


เชื่อว่าบริการเหล่านี้จะเป็นจุดขายที่ลูกค้าคนไทยคุ้นเคยกับการมีบริการครบถ้วน ได้มากกว่า IKEA ที่เน้นพฤติกรรมลูกค้าแบบ DIY โดยที่ลูกค้าต้องขนสินค้า และนำไปประกอบที่บ้านเอง เพื่อลดต้นทุน ซึ่งหากลูกค้าต้องการให้ขนส่ง จะคิดค่าบริการเพิ่ม

นอกจากนี้ทั้ง เอส.บี. เฟอร์นิเจอร์ และอินเด็กซ์ มีแบรนด์ลูกที่จับตลาดล่าง คือ Winner และ Koncept ที่น่าจะได้รับผลกระทบจาก IKEA โดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องราคา แต่เชื่อได้ว่า IKEA สามารถทำราคาได้ต่ำไม่แพ้ 2 แบรนด์ที่จับตลาดกลางถึงล่างได้ เนื่องจากมีพันธมิตรผู้ผลิตอย่าง เอส.เอส.พี โกลเบิ้ล เทรด เป็นกำลังสำคัญ ขณะที่ยังมีผู้ผลิตรายอื่นๆ อีกในไทย ที่จ่อคิวผลิตให้ IKEA ด้วย

ทอม ฮูเซล บอกถึงเป้าหมายของการทำธุรกิจในไทยว่า “ไม่ว่า IKEA จะเดินทางไปที่ใด เราตั้งเป้าเป็นที่ 1 ในตลาด Home Furnishing แม้ในตลาดที่เรายังไม่เป็นที่ 1 เราก็ยังต้องการไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้”

การแข่งขันในตลาดเฟอร์นิเจอร์เมืองไทยจะรุนแรงและมีสีสันมากขึ้นอย่างแน่นอน หากการมาของ ZARA เมื่อ 3 ปีก่อน ถือเป็นการเขย่าวงการแฟชั่นครั้งสำคัญในเมืองไทย การมาของ IKEA ก็ถือเป็นการเขย่าวงการเฟอร์นิเจอร์ครั้งสำคัญยิ่งในเมืองไทยเช่นกัน

อีกไม่นานเกินรอสำหรับแฟนๆ IKEA แต่อาจจะไม่เพียงพอให้ Local Player ปรับตัวเพื่อรับมือกับคู่แข่งตัวฉกาจได้ทันท่วงที

รู้จักกับผู้ผลิต ป้อน IKEA 20 ปี

เอส.เอส.พี โกลเบิ้ล เทรด เป็นธุรกิจของตระกูล “เสริมประภาศิลป์” ภายใต้การนำของ กีรติ เสริมประภาศิลป์ ประธานบริหาร มีประสบการณ์ในการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ส่งออกมายาวนาน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของ IKEA ในเอเชีย มานานเกือบ 20 ปี โดยเริ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้กับแบรนด์ดังนี้ตั้งแต่ปี 2534


ที่น่าจับตาคือการบรรลุข้อตกลงทางการค้ามูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าเฟอร์นิเจอร์ที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียกับ IKEA เพื่อผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียและอเมริกา

จุดเด่นของ IKEA

1. ราคาถูก ดีไซน์สวย เนื่องจากผลิตในปริมาณเยอะ มีการขนส่งที่ดี ทำให้ราคาสินค้าถูกกว่าคู่แข่ง ดังนั้นจุดแข็งนี้จึงนำเสนออย่างเด่นชัดผ่านป้ายราคาที่โดดเด่นและดึงดูดสายตา ขณะที่ดีไซน์ก็ทันสมัยด้วยสีสันที่หลากหลาย

2. กระหน่ำแจกแค็ตตาล็อก โดยเฉพาะการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น แผ่นพับ โบรชัวร์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตที่ให้ทั้งข้อมูลข่าวสาร อัพเดตโปรโมชั่นและสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ IKEA Catalogue เป็นสื่อหลักที่ใช้งบประมาณกว่า 70% ของงบการตลาดทั้งหมดของ IKEA โดยในแต่ละปีผลิตถึง 38 ครั้ง ล่าสุดในปี 2551 ผลิต 199 ล้านฉบับ (มากกว่าคัมภีร์ไบเบิลถึง 3 เท่า) ตีพิมพ์ 17 ภาษาสำหรับ 28 ประเทศ และแน่นอนภาษาที่ 18 คือ ภาษาไทย และเป็นประเทศลำดับที่ 29 ของ IKEA


3. ช้อปสะดวก ด้วยคอนเซ็ปต์ “Everything under one roof” กับการจัดเส้นทางการช้อปปิ้งแบบวันเวย์ ด้วยการให้เดินตามลูกศรที่แปะอยู่บนพื้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทางเข้าจนถึงทางออก

และยังเอาใจคุณหนูของครอบครัวด้วยการจัดพื้นที่ที่ชื่อว่า Smaland หรือ Play area สำหรับเด็กๆ ให้เล่นรอคุณพ่อคุณแม่


นอกจากนี้ยังจัดบริการอุปกรณ์ 3 อย่าง ที่เปรียบเสมือน Icons ของ IKEA ให้กับลูกค้า คือ ดินสอ รายการช้อปปิ้ง และกระดาษวัดระยะ นอกจากนี้ยังมีถุงสีเหลืองที่จำเป็นจะต้องหยิบไว้ใส่ของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ต้องการช้อปอีกด้วย

4. ต้นทุนขนส่งถูก ด้วย Flat Pack หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ถอดประกอบได้ จัดเก็บในกล่องแบนๆ ลดต้นทุนในการขนส่งได้


5. โปรโมชั่นถี่ โดยเฉลี่ยแล้ว IKEA จะจัดโปรโมชั่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

6. D.I.Y. Guru ด้วย Flat Pack ทำให้ลูกค้าต้องประกอบเฟอร์นิเจอร์เอง ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เช่น การเจาะรูใส่ที่จับบานพับ การเลือกดีไซน์ของที่จับด้วยตัวเอง เป็นต้น

Did you know?

IKEA ในสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และอังกฤษ มีบริการ “BOKLOK” หรือ House Pack สำหรับคนที่ซื้อบ้านหลังแรก ด้วยคอนเซ็ปต์เหมือนกับเฟอร์นิเจอร์ที่นำไปประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้านเอง


เจาะโครงสร้าง IKEA

เจ้าของคือมูลนิธิ Stiching INGKA และมี Inter IKEA System B.V. เป็นบริษัทที่รับผิดชอบดูแลด้านแฟรนไชส์ของ IKEA ขณะที่ IKANO Group ก็เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทนี้ แต่ดำเนินธุรกิจ IKEA Store ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และล่าสุดคือ ไทย นอกจากนี้ IKANO Group ยังดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภทในยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชีย เช่น ธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ บริหารสินทรัพย์ ประกันภัย และธุรกิจค้าปลีก

ปล. บทความ IKEA Effect ของ คุณอรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์


*ก่อนจบ ผมมีผลประกอบการ IKEA ในปี 2010 มาฝากเพิ่มเติม



สรุปก็คือ

ในปี 2010 IKEA มียอดขายทั้งหมด (ยกเว้นรายได้จากการให้เช่า) ทั่วโลกที่ 23.1 พันล้านยูโร เติบโต 7.7% จากปี 2009 ที่ 21.4 พันล้านยูโร (โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยจากปี 2005-2010 ประมาณ 9.3% ต่อปี ไม่น้อยทีเดียว) และมีรายได้จากการขายอาหารใน IKEA Food ถึง 1.1 พันล้านยูโร

โดยในปี 2010 ที่ผ่านมา IKEA มีการเปิดสาขาเพิ่ม 12 สาขาใน 7 ประเทศ และสถิติในวันที่ 31 AUG 2010 ที่ผ่านมา IKEA มีสาขารวมทั้งสิ้น 280 สาขาใน 26 ประเทศทั่วโลก

เป็นที่น่าติดตามนะครับว่าแบรนด์ IKEA นั้น จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยมากน้อยแค่ไหน อีกไม่นานคงได้รู้กัน ... แล้วเจอกันที่ IKEA นะครับ

Comments