The Seven Sins of Greenwashing (บาปเจ็ดประการของการฟอกเขียว)



หลังจากที่บทความก่อนหน้านี้ได้พูดถึง Greenwashing กันไป หรือจะเรียกว่า "การฟอกเขียว" ก็ได้ แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เขาป่าวประกาศมาว่าสินค้านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันจริงหรือเปล่า ถามผม ก็ไม่รู้เหมือนกัน (เอ๋า….แล้วพูดทำไม) ไม่เป็นไร อะไรที่เราไม่รู้ เราไปถามพี่ goo กัน… โอ่ะ ไอ้คำว่า Greenwashing มันมาจากอเมริกา โดยเขาได้ให้คำนิยามของ Greenwashing ว่ามันคือบาป (น่ากลัวทีเดียว) เป็น บาปเจ็ดประการของการฟอกเขียว (The Seven Sins of Greenwashing) ซึ่งมีอะไรบ้างไปดูกัน

1. บาปของการบอกไม่หมด (Sin of the Hidden Trade-Off) 



เป็นการอ้างว่า สินค้าของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักเกณฑ์แค่บางมุม โดยไม่สนใจมุมอื่นๆ เช่น การอ้างว่าผลิตภัณฑ์กระดาษจากป่าปลูกนั้นเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่สนใจเรื่องอื่นๆ เช่นพลังงานที่ใช้ในการผลิต มลภาวะ และแก๊สเรือนกระจกที่อาจมีความสำคัญมากกว่าแหล่งวัตถุดิบก็ได้ 

2. บาปของการไม่มีหลักฐาน(Sin of No Proof)


เป็นการอ้างว่าสินค้าของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีเอกสารหลักฐานที่ยืนยัน หรือขาดใบรับรอง เช่น กระดาษชำระที่อ้างว่าผลิตจากกระดาษรีไซเคิล โดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจริงหรือไม่

 3. บาปของความคลุมเครือ (Sin of Vagueness) 


เป็นการใช้คำอ้างที่กว้างและคลุมเครือเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นสินค้านี้ผลิตจาก“วัตถุดิบจากธรรมชาติ”(โลหะหนัก ฟีนอล ไซยาไนด์ ต่างก็มาจากธรรมชาติ) และ “ปราศจากสารเคมี” (น้ำบริสุทธิ์ก็เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง)

4. บาปของสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง (Sin of Irrelevance) 


เป็นการอ้างสิ่งที่เป็นความจริง แต่ก็ไม่มีความสำคัญ ไม่เกี่ยวข้อง หรือชี้นำให้เกิดการเข้าใจในประเด็นที่ผิด เช่น การอ้างว่าปราศจาก CFC ทั้งๆสารชนิดนี้ถูกห้ามใช้โดย พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Laye) อยู่แล้ว

5. บาปของสิ่งที่ร้ายน้อยกว่า (Sin of Lesser of Two Evils) 


เป็นการอ้างว่าสินค้าของตนนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าชนิดเดียวกันในท้องตลาด โดยที่ผลกระทบของสินค้ากลุ่มนั้นๆ อาจยังรุนแรงอยู่ก็ได้ เช่น บุหรี่ปลอดสารพิษ หรือรถ SUV รุ่นประหยัดน้ำมัน เป็นต้น

6. บาปของการโกหก (Sin of Fibbing) 


เป็นการใช้คำอ้างที่ไม่เป็นความจริง เช่น การอ้างว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของตนใช้มาตรฐาน Energy Star ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้ใช้ก็ตาม 

7. บาปของการใช้ใบรับรองปลอม (Sin of Worshiping False Labels) 


เป็นการอ้างว่ามีหนังสือหรือเอกสารรับรองความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากองค์กรภายนอกที่เชื่อถือได้ ทั้งๆที่หนังสือหรือเอกสารรับรองนั้นไม่มีอยู่จริง

ที่นิ้ก็คงรู้กันแล้วนะครับ ว่าไอ้สัตว์ประหลาดที่ผมทิ้งท้ายไว้ในครั้งที่แล้ว มันก็คือ ตัวบาปสีเขียว นั่นเอง ไม่ธรรมาดาด้วยนะครับ มีตั้งเจ็ดตัวแนะ ที่อาละวาดจนเกิดปัญหา “Greenwashing” แต่ยังไม่จบนะครับ คราวหน้า เราจะมาลองดูกันว่า ตลาดสินค้าสีเขียวในสหรัฐฯ ซึ่งถือว่า เป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตสูงทุกปี เพราะผู้บริโภคบ้านเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมกันมาก ไปดูกันว่าสินค้าสีเขียวของเขา จะมีเจ้าตัวบาปเจ็ดประการของการฟอกเขียว (The Seven Sins of Greenwashing) อาละวาดกันมากน้อยแค่ไหน อย่าลืมติดตามกันนะครับ

ข้อมูลอ้างอิงจาก : สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม

Comments