มารู้จัก การตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) กันอีกสักนิด (ตอนจบ)


กลับมาอีกครังกับการตลาดเพื่อสังคมที่กล่าวถึงกันไปบ้างก่อนหน้านี้ (การตลาดเพื่อสังคม ตอนที่ 1) มาได้อ่านบทความก็เพิ่งรู้เหมือนกันนะครับว่า ผู้ประกอบการในไทยเราก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ดีครับ ถึงแม้บริษัทหรือองค์กรที่เป็น SE ในบ้านเีรา อาจจะยังไม่ได้ใหญ่โตมากมาย  แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ


การตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) 




จากการที่ได้พูดคุยกับเจ้าของกิจการธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ทำให้ทราบว่า นักธุรกิจเพื่อสังคมเองก็ประสบปัญหาอยู่ ไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจดีแต่ขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจ การตลาด ธุรกิจบางอย่างจึงยากที่จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคเท่าที่ควร ดังนั้นหากมีภาครัฐหรือองค์กรใดที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลและประชาสัมพันธ์ธุรกิจเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักก็จะสามารถทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสเติบโตได้อีกไม่น้อย นอกจากนี้ธุรกิจเหล่านี้ยังพบปัญหาและอุปสรรคจากกฎระเบียบของภาครัฐเอง แทนที่จะได้รับการสนับสนุนอีกด้วย 

ในเรื่องของแหล่งเงินทุนก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลกที่ให้ความช่วยเหลือให้กับองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้อยู่ แต่ในบ้านเรากลับมีน้อยมาก ดังนั้นหากภาคการเงินการธนาคาร รวมถึงธุรกิจใหญ่ ๆ ที่อยากทำโครงการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ได้เข้ามาร่วมมือให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ในด้านต่าง ๆ เช่น การอบรม ให้ความรู้ในการประกอบธุรกิจ ในด้านกลยุทธ์การตลาด และการหาตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือช่วยเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงให้ก็จะช่วยให้องค์กรเหล่านี้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและยืนหยัดอยู่ได้ครับ



ในงาน Social Enterprise ครั้งที่ 2 และงานเปิดตัวหนังสือ "ทำเพื่อสังคมไม่เห็นต้องกินแกลบ (Becoming Social Entrepreneur)" ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กร Change Fushion ร่วมกับองค์กรผู้ร่วมสนับสนุนอื่น ๆ ได้มีการนำเสนอโครงการของผู้ชนะการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมหลายโครงการซึ่งมีความน่าสนใจและ แสดงให้เห็นว่า ความรู้ด้านการตลาดสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่นกลุ่ม Southern Salam ที่มองเห็นว่า สาเหตุหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็คือ ปัญหาการ ว่างงาน ซึ่งนอกจากจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้แล้ว ยังทำให้คนที่ว่างงานหันไปทำอย่างอื่นซึ่งไม่เกิดประโยชน์หรืออาจสร้างปัญหาได้ 

กลุ่ม Southern Salam จึงได้ทำการสำรวจแล้วพบว่าผ้าคลุมผมสตรีชาวมุสลิม เป็นสินค้าหัตถกรรมอย่างหนึ่งซึ่งคนไทยในสามจังหวัดสามารถทำได้ดี จึงมีแผนให้การสนับสนุนอย่างครบวงจรทั้งต้นทุนวัตถุดิบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงาน 

นอกจากนี้จากการทำวิจัยยังพบว่าปัญหาด้านกลิ่นอับเป็นปัญหาสำคัญของผู้ใช้ผ้าชนิดนี้ จึงมีการนำนาโนเทคโนโลยีที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นอับเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหา และมีการศึกษาเพื่อเปิดตลาดใหม่ในตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำจุดแข็งของคนไทยในเรื่องของการออกแบบเข้ามาช่วย โดยการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทยเพื่อออกแบบลวดลายให้เข้ากับแฟชั่นอีกด้วย เห็นได้ว่าการนำเรื่องของการตลาดมาทำงานเพื่อสังคม (Social Marketing) นั้น จริง ๆ แล้วไม่ต้องคิดมากและไม่ต้องคิดยาก ขอให้มองลึกถึงสาเหตุหลักของปัญหาสังคมที่ต้องการแก้ไข แล้วนำความรู้ด้านการตลาดมาประยุกต์ใช้ ต่อยอดกับภูมิปัญญาที่มีอยู่ ก็จะช่วยตอบโจทย์ได้ไม่ยากครับ... ...



ถึงจุดนี้เราคงต้องมาคิดกันแล้วว่า จุดมุ่งหมายในชีวิต หรือสำหรับองค์กรธุรกิจของท่านนั้นคืออะไร หากเงินไม่ใช่ คำตอบสุดท้าย องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise อาจเป็นทางเลือกสำหรับท่านก็ได้ครับ !

บทความโดย คุณรณพงศ์ คำนวณทิพย์

 ----------------------------------------------------------------------------

ต้องยอมรับกันละครับว่า การตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) ที่ก่อตัวขึ้นจากผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือชุมชนต่างๆ ที่เล็งเห็นปัญหาความเป็นอยู่ของชุมชนตนเอง และรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จะผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาใส่ใจต่อสังคมกันมากขึ้นในอนาคต เพราะถึงแม้บริษัทใหญ่ๆ จะไม่สามารถเป็น Social Enterprise ได้เต็มตัว (เช่น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์) แต่ก็คงจะต้องมีกลยุทธ์ หรือแผนการตลาดในเรื่องนี้มากขึ้น (หรือการทำ CSR มากขึ้น) และที่สำคัญประเด็นของการทำตลาดเพื่อสังคมนั้น คงจะตั้งอยู่ในหลักของ SCG (อันนี้ผมคิดเอง แต่เผอิญไปตรงกับชื่อบริษัทใหญ่ในไทยเราพอดีเลย)


"ช่วยเหลือสังคม (Social) + ด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ (Creative) + เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green)"


ซึ่งน่าจะเป็นหลักสำคัญ ที่จะต้องคิดทบทวนเมื่อผู้ประกอบการจะหันมาทำการตลาดเพื่อสังคมกันอย่างจริงจัง

อ๋อ ผมยังมีอะไรมาฝากนิดหน่อย พอดีไปค้นข้อมูลเจอหน่วยงานอย่างเป็นทางการในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย ในนามของ สกส. (สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) ที่ได้ก่อตั้งเว็ปไซต์ Social Enterprise Thailand (กิจการเพื่อสังคม ประเทศไทย) ใครอยากรู้อะไรเพิ่มเติมตามไปอ่านกันได้ครับ มีตัวอย่างผู้ประกอบการในไทยและเทศ ที่เป็น Social Enterprise ด้วยครับ

Comments