Social Enterprise (SE) ธุรกิจโดนใจลูกค้าศตวรรษนี้ (ตอนที่ 2 : ความสำคัญและบทบาทของภาครัฐ)



หลังจากที่บทความที่แล้ว (ตอนที่ 1) เราได้รู้ถึงความหมายและที่มาของ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) และก็รู้แล้วด้วยว่า SE กับ CSR มันต่างกันเยี่ยงไร วันนี้เราจะมาตามกันต่อว่า ทำไม SE ถึงจะเป็นสิ่งที่จำเป็นและโดนใจลูกค้าของธุรกิจศตวรรษนี้ อีกทั้งภาครัฐจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้กิจการเพื่อสังคม (SE) เติบโตขึ้นได้อย่างไร.



Social Enterprise (SE) ธุรกิจโดนใจลูกค้าศตวรรษนี้ (ตอนที่ 2)



SE คำตอบของธุรกิจศตวรรษนี้จริงหรือ ? 


คำตอบนี้อาจดูได้จากการให้ความสำคัญกับ SE ของประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศ ในระดับนโยบายรัฐบาล การสนับสนุน SE อย่างจริงจังและกว้างขวาง เช่น ประเทศอังกฤษ มีการก่อตั้งหน่วยงานชื่อ Office of the Third Sector (OTS) อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักคณะรัฐมนตรี OTS มีนโยบายหลัก คือ การผลักดันและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม และให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลและคำปรึกษาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และลดอุปสรรคในการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานเฉพาะกิจ Social Investment Task Force ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในเรื่องการขยายตัวของกองทุน Phoenix (กองทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนโดยการกระตุ้นการลงทุนผ่านทางสังคมและธุรกิจ) การจัดตั้งการให้เครดิตทางภาษีของการลงทุนเพื่อชุมชน การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ สู่กองทุนร่วมพัฒนาชุมชน และการสนับสนุนการพัฒนาทางด้านการเงินแก่ชุมชน 

ขณะที่ประเทศแคนาดาก็มีการออกพระราชบัญญัติความร่วมมือขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยลดความแตกต่างของกฎระเบียบสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและรัฐบาล จัดตั้งเงินกองทุนสนับสนุน SE ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศักยภาพ นอกจากนั้นยังก่อตั้ง Co-operative Development Initiative (CDI) ในปี 2003 เพื่อทำวิจัย พัฒนา เรื่องนี้โดยตรง 

ในส่วนภูมิภาคเอเชีย ประเทศสิงคโปร์ มีการจัดตั้งกองทุน Social Enterprise (Social Enterprise Fund - SEF) เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนการเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคม และจัดตั้งคณะกรรม Social Enterprise Committee (SEC) เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ สร้างกิจการเพื่อสังคมที่มีความชำนาญด้าน สิ่งแวดล้อม และสร้างวัฒนธรรมของการเป็นผู้ประกอบการด้านสังคม

ปัจจุบันประเทศไทย ก็มีการตื่นตัว มองเห็นศักยภาพและความเป็นได้ของ SE ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการ มองหาธุรกิจที่มีลักษณะของ SE เพื่อให้เป็นต้นแบบ มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นบนแนวคิดของ SE ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สนับสนุนโดยการจัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม และกำลังเร่งจัดทำแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม


บทบาทของรัฐ คือ หัวใจการเติบโตของ SE 



จากประสบการณ์ของ SE ในประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีการตื่นตัวและพัฒนา เรื่องนี้มายาวนาน ผู้เชี่ยวชาญที่ไปร่วมสัมนาระดับนานาชาติได้ข้อสรุปตรงกันว่า บทบาทของรัฐนั้นสำคัญอย่างมาก หากรัฐยกกระดับประเด็นเรื่อง SE ขึ้นเป็นประเด็นระดับชาติ จากประสบการณ์ในประเทศอังกฤษเมื่อรัฐบาลเข้ามา สนับสนุนในระดับนโยบาย สามารถสร้างความสนใจและขับเคลื่อนทรัพยากรจำนวนมากมาผลักดันให้เกิด SE ถึงเกือบ 60,000 องค์กร และยังเกิดผลทางเศรษฐกิจได้กว่า 2 หมื่น 7 พันล้านปอนด์อีกด้วย หลักการสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสนใจประเด็น SE คือ มองเห็นว่าเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาและพัฒนาโอกาสทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่มีความยั่งยืนทางการเงิน สามารถขยายผลได้ไม่สิ้นสุด ต่างกับการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมทั่วไปซึ่งมักจบลงเมื่อไม่สามารถระดมทุนให้เปล่าได้เมื่อหมดโครงการ 

คุณสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ Change Fusion (องค์กรของคนรุ่นใหม่ที่พยายามสนับสนุนการสร้าง SE ในเมืองไทย) กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐว่าเป็นการสนับสนุนในลักษณะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดการประกอบการเพื่อสังคมผ่านกิจการต่างๆ ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ หากสนใจรายละเอียดบทเรียนและประสบการณ์การพัฒนา SE ในประเทศอังกฤษ สามารถติดตามข้อเขียนของคุณสุนิตย์ได้ที่ http://dreaminfection.com/2010/03/
englishlesson1/

SE มีอยู่ในหลายรูปแบบ ครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น กิจการด้านพลังงานทดแทนในระดับท้องถิ่น การท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน กิจการให้สินเชื่อขนาดเล็กสำหรับคนยากจน (micro-credit) การเกษตรยั่งยืน การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย การนำสินค้าทางวัฒนธรรมของชาวบ้านมาทำการตลาดการ การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อแก้ปัญหาสังคม การสร้างงานให้กับผู้พิการ สร้างสื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ ปัจจุบัน SE เป็นมากกว่ากระแสความคิดที่ทั่วโลกให้ตื่นตัว เพราะมีตัวอย่าง SE มากมายที่ประสบความสำเร็จและขยายตัวอย่างรวดเร็ว.

พบกันต่อในตอนที่ 3 นะครับ

Comments