Social Enterprise (SE) ธุรกิจโดนใจลูกค้าศตวรรษนี้ (ตอนที่ 1 : SE คืออะไร?)



ก่อนหน้านี้ผมได้นำเรื่อง การตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งถือเป็นคำตอบของบริษัทหรือองค์กรเอกชน ที่ยังคงมุ่งเน้นกำไร (เงิน) เป็นเป้าหลักในการดำเนินธุรกิจ แต่ก็อยากจะทำอะไรที่แสดงถึงการเอาใจใส่ต่อสังคม, สิ่งแวดล้อม และผู้คนบ้าง ซึ่ง การตลาดเพื่อสังคม Social Marking หรือ CSR ถือเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วย แต่มีใครเคยสงสัยไหมครับว่า แล้วธุรกิจประเภทไหนที่มุ่งเน้นแต่การทำเพื่อสังคมเป็นหลัก อันนี้ผมตอบได้ (เพราะเพิ่งอ่านมา) ก็คือ กิจการเพื่อสังคม (SE : Social Enterprise) นั่นเอง แต่เอะแล้ว กิจการเพื่อสังคม คืออะไร ธุรกิจที่มุ่งเน้นกำไรเป็นหลัก สามารถเป็น SE ได้หรือไม่ แล้ว SE มันแตกต่างกับการทำ CSR ไหมเนี่ย วันนี้เราจะไปหาคำตอบจากบทความที่ผมนำมาเล่าให้ฟังกันครับ ซึ่งบทความชิ้นนี้ผมได้นำมาจากนิตยสาร leisure&fun(d) ซึ่งขอแบ่งออกเป็น 3 ตอนครับ

ตอนที่ 1 : ความหมายของ SE และ SE กับ CSR เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ตอนที่ 2 : ความสำคัญของ SE ต่อศตวรรษนี้ กับ บทบาทของภาครัฐที่มีผลต่อ SE
ตอนที่ 3 : ตัวอย่าง SE ทั้งในและต่างประเทศ


ส่วนใครอยากรู้ว่าทำไมเราต้องมาทำการตลาดเพื่อสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวโน้มของการทำ การตลาด 3.0 ไปอ่านสรุปได้ครับ


Social Enterprise (SE) ธุรกิจโดนใจลูกค้าศตวรรษนี้ (ตอนที่ 1)


ปี 2011 นับเป็นการขึ้นต้นทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 ศตวรรษใหม่ที่มนุษยชาติต่างตื่นตระหนก และเริ่มตระหนักอย่างจริงจังถึงผลพวงของความเจริญก้าวหน้าที่พัฒนาต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 จนถึงศตวรรษที่ 20 โลกก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์ตอบรับการมาถึงของแสงแห่งการรู้แจ้ง (The Enlightenment) อย่างยินดี แต่แสงสว่างยิ่งเจิดจ้าเงามืดก็ยิ่งเข้มข้น สิ่งที่เกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งของความเจริญคือปัญหาอันหลากหลายและซับซ้อน จากอดีตที่อาจมองไม่เห็นของความเชื่อมโยงของปัญหาหรือเห็นปัญหาของเขาไม่ใช่ของเรา จนกระทั่งปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบสิบ ยี่สิบปีนี้ จากภาวะโลกร้อน ทำให้ทุกคนเริ่มหยุด และคิด ปัญหาทุกปัญหาคือปัญหาของเรา แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง 

สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ธุรกิจการค้าและกลไกทางเศรษฐกิจ คือ ตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าอย่างบ้าคลั่งในสองร้อยปีที่ผ่านมา การเริ่มต้นศตวรรษใหม่ศตวรรษของคนยุคเรา เราจะขับเคลื่อนโลกต่อไปในทิศทางใด


SE : Social Enterprise คือ อะไร ?   



ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แล้วที่เริ่มเกิดหน่วยงานประเภทที่เรียกกันสั้นว่า เอ็นจีโอ (NGO : Non-governmental Organization) องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ในต่างประเทศมักเรียกว่า “องค์กรที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร” หรือ “องค์กรอาสาสมัครเอกชน” สำหรับประเทศไทย มักเรียกว่า “องค์กรการกุศล” หรือ “องค์กรสาธารณประโยชน์” และในระยะหลังก็เรียกว่า “องค์กรพัฒนาเอกชน” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับท้องถิ่น

แต่ที่ผ่านมาการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากภายนอกในลักษณะต่างๆ เช่น การรับบริจาค การขอสนับสนุนแบบให้เปล่า หลายครั้งจึงเกิดความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินงานข้อจำกัดการขยายขอบเขตงาน และความยั่งยืนขององค์กร ข้อจำกัดเหล่านี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของแนวคิด SE กิจการเพื่อสังคม 


“Social Enterprise (SE) หรือ กิจการเพื่อสังคม จึงหมายถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์แบบกลไกตลาดเพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และมีแผนธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินงานและขยายงานให้เต็มศักยภาพได้


นั่นคือ SE จะมีการมองเป้าหมายทางการเงินด้วยแต่เป็นโมเดลแบบ Triple Bottom Line ที่วางเป้าหมายการสร้างรายได้เป็นฐานที่จะเพิ่มผลประโยชน์ของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นเหมือนกิจการทั่วไป 



นอกจากดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป SE กิจการเพื่อสังคม มักมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

1. มีแนวทางการหารายได้ด้วยตนเองเพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เช่น รูปแบบการขายผลิตภัณฑ์และ / หรือบริการการระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน จนถึงการขอรับบริจาคหรือการสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่าเหมือน NGO

2. เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา นั่นคือการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผล ยั่งยืน และสามารถต่อยอดผลลัพธ์ได้ (ดูรายละเอียดได้ในตัวอย่าง SE)

3. ดำเนินงานแบบอาศัยความร่วมมืออย่างกว้างขวางจากเครือข่าย เพื่อใช้ศักยภาพเฉพาะทางของหน่วยงานนั้นๆ ในการร่วมแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน



SE ไม่ใช่ CSR 



ก่อนหน้านี้ วงการธรุกิจต่างๆ ในเมืองไทย ต่างตื่นตัวกับคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัทจนเกิดกระแสกิจกรรมที่เป็นทั้ง CSR แท้ และ CSR เทียม (เน้นประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์) ดังนั้น คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า SE หรือ กิจการเพื่อสังคม ก็ มักเหมารวมทันทีว่า อ๋อ เป็น CSR ใช่ไหม ที่จริงแล้ว SE ต่างจาก CSR ตรงที่ 


"CSR เป็นกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมของกิจการหรือธุรกิจที่แสวงหากำไรตามปกติ แต่ SE คือ ตัวธุรกิจเองที่มีเป้าหมายไม่ได้แสวงหากำไรสูงสุดแต่มีเป้าหมายที่จะเป็นวิถีทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก" 


เพราะแนวคิดของ SE มองเห็นความเป็นจริงว่า สังคมยิ่งเจริญก้าวหน้ามีความใหญ่โตและซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งเกิดตามมากและทวีความซับซ้อน หลากหลาย และความรุนแรงตามความเจริญนั้นด้วย ยากที่หน่วยงานใดๆ หน่วยงานหนึ่งจะจัดการได้ เช่น จะรอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขอย่างเดียวคงไม่ทันการณ์ ขณะเดียวกันหน่วยงานเอกชนที่มักดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) โดยตรง เช่น ผู้ถือหุ้นนั้นอาจไม่สามารถเข้ามามีส่วนช่วยจัดการปัญหาได้เพราะอาจขัดกับประโยชน์ที่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจ บางครั้งตัวธุรกิจของหน่วยงานนั้นเองก็เป็นเหตุหนึ่งของปัญหาการใช้งบประมาณเพียงส่วนน้อยกับโครงการหรือกิจกรรม CSR จึงไม่เพียงพอและไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง 

ดังนั้น ชนชั้นนำ นักคิดส่วนใหญ่ในหลายสาขา ต่างมองว่าถึงเวลาแล้วที่ศตวรรษนี้มนุษย์ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ มองเห็นและยอมรับปัญหาที่แท้จริง (อย่างเช่นปัญหาเรื่องโลกร้อนซึ่งถ้าตระหนักอย่างลึกซึ้ง ทุกวันนี้สถานการณ์รุนแรง อันตราย และเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้นทุกขณะ) และควรเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาจริงจังทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน หรือเฉพาะองค์กรน้อยลง เพื่อความอยู่รอดของสังคมโลก และ SE ก็คืออีกโมเดลความคิดหนึ่งที่ถูกนำเสนอให้โลกภาคส่วนธุรกิจได้ทบทวนที่จะดำรงบทบาทตนเองใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นในโลกศตวรรษนี้.

Comments