เรามาเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)" กันดีกว่า


หลังจากลองมานั่งดูสถิติยอดผู้ชมของบทความที่เพื่อนๆ เข้ามาดู เข้ามาอ่าน ในรอบปีนี้ เห็นว่าเรื่องที่เกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์สีเขียว ได้รับความสนใจทีเดียวครับ จะเห็นได้จาก บทความที่ได้รับความนิยม (มองไปขวาบนของ blog ครับ)  จะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สีเขียวก็แยะอยู่ แสดงว่าผองเพื่อน พี่ น้อง หรือผู้บริโภคอย่างเราๆ เริ่มให้ความสนใจกับ สินค้าสีเขียวกันมากขึ้นแล้ว แต่เคยมีใครนึกสงสัยไหมครับว่า สินค้าที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น Eco-Car, รถ Hybrid  อะไรพวกนี้ เรารับรู้ว่ามันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการใช้พลังงาน ซึ่งมันเป็นภาคของผู้บริโภคอย่างเรา คือ คุณซื้อมาใช้นะ สินค้านี้ใช้แล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในภาคของการผลิตละมันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แค่ไหน อันนี้เราไม่รู้ (อันนี้ ยกตัวอย่างนะครับ รถที่ผลิตออกมา อาจจะเขียวตลอดห่วงโซ่การผลิตก็ได้) สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็น คือ ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมมาแต่ไหนแต่ไร จะมีวิธีจัดการอย่างไร เพื่อให้ได้ชื่อว่าการผลิตสินค้านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หรือจะเรียกให้มันอินเทรนด์หน่อย ก็เป็น อุตสาหกรรมสีเขียว นั่นเอง เราไปดูกันว่าดีกว่าว่ามันต้องทำอย่างไรนะ (บทความชุดนี้ ผมนำมาจาก อุตสาหกรรมสาร ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมครับ)


GREEN INDUSTRY : อุตสาหกรรมสีเขียว



“เพื่อสิ่งแวดล้อม” กลายเป็นคำที่มีการพูดถึงและลงมือทำกันอย่างแพร่หลายในทุกวงการ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มนุษย์ทุกคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากภัยธรรมชาติที่มนุษย์เป็นต้นเหตุก่อขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน แต่ในภาพรวมใหญ่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบอุตสาหกรรม คือส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไม่อาจหลีกเลี่ยงปรับตัว เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป จึงเกิดเป็นแนวทางการจัดการที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมสีเขียว” ขึ้นมา และกำลังเป็นเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ความสนใจ

แนวคิด อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นการจุดประกาย จากผลกระทบสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นการพลิกรูปแบบการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในทางเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่า สิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรม จะอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ และ “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” จะขายได้จริงหรือ

อุตสาหกรรมสีเขียวคืออะไร


อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เป็นการจัดการโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Waste Recovery) ในกระบวนการผลิต การป้องกันปัญหามลพิษโดยใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) รวมทั้งการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) มีการแลกเปลี่ยนของเสียที่จะเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานอื่นๆ (Industrial Symbiosis) โดยเน้นของเหลือใช้และของเสียกลับมาใช้ใหม่ตามหลักการ 3R’s Reuse Reduce Recycle ได้แก่ การลดของเสีย การใช้ซ้ำ และการนำวัสดุเหลือใช้/ของเสีย กลับมาใช้ประโยชน์ 

5 ระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่สมบูรณ์


อุตสาหกรรมสีเขียวยุคใหม่ยังต้องมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการจัดการของเสียและมลภาวะต่างๆ ระบบการจัดการพลังงาน กิจกรรมรักษา สิ่งแวดล้อมภายในองค์กร การสร้างวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุด ของอุตสาหกรรมสีเขียว 5 ระดับ ซึ่งเป็นโมเดลที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดขึ้นตามแนวคิด “โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว” มาดูกันว่าการที่โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งจะก้าวเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างสมบูรณ์แบบนั้นจะต้องผ่านลำดับขั้นอะไรบ้าง

1. Green Commitment


เป็นระดับที่แสดงถึงความมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด ซึ่งเป็นระดับที่เราเริ่มเห็นได้ทั่วไป จากการที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคทั้งเล็กใหญ่เริ่มผลิตสินค้าที่ใช้วัสดุรีไซเคิล ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมหรือลดการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งโรงงานของแต่ละบริษัทส่วนใหญ่จะผ่านจุดในระดับเริ่มต้นนี้กันหมดแล้ว



2. Green Activity


เป็นระดับที่โรงงานต้องแสดงให้เห็นว่า ได้ทำการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามความมุ่งมั่นในระดับแรก คือผ่านขั้นตอนของการวางแผนงาน มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้ผู้บริโภคจับต้องได้ เช่น การออกสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล การพัฒนาระบบประหยัดพลังงานในเครื่อง ของ โนเกีย แอลจีและโซนี่ อีริคสัน ผู้ผลิตพรินเตอร์เอชพีออกเครื่องพรินเตอร์ที่ใช้หมึกรักษาสิ่งแวดล้อม หรือโค้กออก ตู้แช่ประหยัดพลังงานลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกตู้แช่ของโค้ก เป็นต้น รวมทั้งแผนงานลดใช้พลังงานภายในโรงงานยักษ์ใหญ่อย่าง โรงงานของกลุ่ม SCG ก็ถือว่าอยู่ในขั้นนี้เช่นกัน 3.


3. Green System


การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในอย่างเป็นระบบ หรือการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ถือว่าเป็นจุดที่เริ่มยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะต้องมีการปรับปรุงโรงงานอย่างจริงจัง โดยต้องจัดเก็บแผนการดำเนินงานแต่ละเดือน เช่น การจดตัวเลขการปล่อยคาร์บอนและคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงไป โรงงานที่ดำเนินมาถึงขั้นนี้ผู้บริโภคสามารถวางใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์จากโรงงานแห่งนี้มุ่งมั่นเพื่อเป็น ผลิตภัณฑ์สีเขียวอย่างแท้จริง

4. Green Culture


หากโรงงานที่ผ่านระดับ 3 มาแล้ว จะเข้าสู่การเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปโดยปริยาย โดยพนักงานจนถึงระดับบริหารจะรับทราบและปฎิบัติตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งจะถูกกำหนดอยู่ในนโยบายขององค์กรที่ชัดเจน อาทิ การใช้น้ำอย่างประหยัด การปิดไฟในเวลาพัก ใช้แก้วน้ำแทนกรวยกระดาษ ใช้ กระดาษถ่ายเอกสาร 2 หน้า เป็นต้น

5. Green Network  


เป็นระดับสุดท้ายและสูงสุดของโมเดลที่แสดงถึงการขยายเครือข่ายผ่านห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยสนับสนุนให้คู่ค้าของโรงงานหรือโรงงานด้วยกันเข้าสู่กระบวนสีเขียว เป็นพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ซึ่งยังพบได้น้อย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียวนี้ยังต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคมด้วย จึงจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียวที่สมบูรณ์แบบ


ไว้คราวหน้าเราจะมาดูกันต่อว่า ในส่วน SME ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากในบ้านเรา จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ท้าทายทีเดียวครับ

Comments