"ต้องมีรายได้เท่าไหร่ ที่พอจะซื้อความสุขได้?"
ใครตอบได้บ้างครับ ให้ผมตอบตอนนี้ยังนึกไม่ออกเลย สงสัยต้องตอบว่ามีมากๆ เข้าไว้ก่อนละมั้ง แต่ในต่างประเทศเขาได้มีการทำวิจัยกันมาแล้วนะครับ ว่าจะต้องมีรายได้ต่อปีเท่าไหร่ ถึงจะสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ ไม่รู้เขาใช้อะไรมาวัดเหมือนกัน เพื่อหาความสอดคล้องระหว่างรายได้ที่ต้องการกับความสุขที่ตัวเองได้รับ แต่เราไปดูกันดีกว่าครับ
จากผลการวิจัยของ Skandia International ที่ได้ทำการสำรวจ รายได้ต่อปีโดยเฉลี่ยที่จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชีวิต ของคนใน 13 ประเทศ พบว่า โดยเฉลี่ยของทั้ง 13 ประเทศ รายได้ที่จะทำให้มีความสุขได้ อยู่ที่ $116,000 หรือประมาณ 3.48 ล้านบาทต่อปีเลยนะนั่น โดยประเทศที่ต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงสุด ชีวิตถึงจะสุขได้ คือ
กลุ่มประเทศที่มีราคาของความสุขสูงสุด
1. Dubai $276,150 (8.29 ล้านบาท) โดย GDP per capita อยู่ที่ $48,222 หรือ 1.45 ล้านบาทต่อปี คือคนดูไบจะมีความสุขได้เมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 5.7 เท่า
2. Singapore $227,553 (6.83 ล้านบาท) โดย GDP per capita อยู่ที่ $61,103 หรือ 1.83 ล้านบาทต่อปี คือคนสิงค์โปรจะมีความสุขได้เมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 3.7 เท่า
3. Hong Kong $197,702 (5.93 ล้านบาท) โดย GDP per capita อยู่ที่ $49,990 หรือ 1.5 ล้านบาทต่อปี คือ คนฮ่องกงจะมีความสุขได้เมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 3.9 เท่า
กลุ่มประเทศที่มีราคาของความสุขต่ำสุด (จากการสำรวจ)
1. Germany $85,781 (2.57 ล้านบาท) โดย GDP per capita อยู่ที่ $39,211 หรือ 1.18 ล้านบาทต่อปี คือคนเยอรมันจะมีความสุขได้เมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 2.2 เท่า
2. France $114,344 (3.43 ล้านบาท) โดย GDP per capita อยู่ที่ $34,993 หรือ 1.05 ล้านบาทต่อปี คือคนฝรั่งเศษจะมีความสุขได้เมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 3.3 เท่า
3. UK $133,010 (3.99 ล้านบาท) โดย GDP per capita อยู่ที่ $35,494 หรือ 1.06 ล้านบาทต่อปี คือ คน UK จะมีความสุขได้เมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 3.7 เท่า
ยังไม่หมด การสำรวจนี้ยังถามต่อไปอีกว่า คุณต้องมีเงินมากขนาดไหนถึงจะรู้สึกได้ว่าตัวเองรวยหรือมั่งคั่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจำนวนเงินที่จะทำให้คนเรารู้สึกว่ารวย มั่งคั่ง คือประมาณ $1.8 ล้าน หรือ 54 ล้านบาท (โอ่ะ อย่างนี้เราจะได้รู้สึกรวยกะเค้าบ้างไหมเนี่่ยะ) โดยชาวสิงค์โปรต้องมีเงินถึง $2.91 ล้าน หรือ 87.3 ล้านบาท ส่วนอันดับสองชาวดูไบที่ต้องมีเงินถึง $2.5 ล้าน หรือ 75 ล้านบาท ตามมาด้วยชาวฮ่องกง ที่ต้องมีเงินถึง $2.46 ล้าน หรือ 73.8 ล้านบาท ถึงจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นรวยและมั่งคั่ง (แปลกที่ว่า การสำรวจในครั้งนี้ กลับไม่ได้ถามว่า "เราต้องมีเงินมากมายเท่าไหร่ละ เราถึงจะรู้สึกมีความสุขได้")
แต่เป็นที่น่าสนใจครับว่า กลุ่มประเทศยุโรป ที่ถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับให้ราคาของความสุขต่ำกว่ากลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกาหรือประเทศในตะวันออกกลางซะอีก
เอ่ะ....ทำไมละนั่น?
ที่จริงอาจจะเป็นเพราะ การมองความร่ำรวย ความมั่งคั่ง ส่วนใหญ่เราจะมองกันในเชิงเปรียบเทียบกันมากกว่า โดยเราจะเชื่อมโยงเปรียบเทียบกับผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา เพราะฉะนั้น รายได้ที่เราต้องการเพื่อทำให้เรารู้สึกมีความสุขได้ก็คือ การได้มากกว่าคนที่อยู่รอบตัวเรา จะเห็นได้ว่า ที่ผมเอารายได้ต่อหัวเฉลี่ยรายปี (GDP per capita) มาเปรียบเทียบเพิ่มเติม เพื่อต้องการให้เห็นถึงผลของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
อย่างในกรณีของดูไบ ที่ต้องการรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงเพื่อที่จะให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข ก็เพราะในดูไบ มีเศรษฐีเจ้าของบ่อน้ำมันอยู่ก็มาก ทำให้รายได้ที่ต้องการทำให้ตัวเองรู้สึกสุขจึงสูงมาก ซึ่งสูงมากกว่า รายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ (GPD per capita) ถึง 5.7 เท่าเลยทีเดียว ในทางกลับกันในส่วนของชาวเยอรมันที่ต้องการรายได้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากเยอรมันเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เมื่อเปรียยบเทียบกับคนอื่นรอบตัว ซึ่งมีรายได้พอๆ กันจึงทำให้ระดับราคาของความรู้สึกสุขจึงไม่สูงมากนัก จะเห็นได้ว่ามากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศแค่ 2.2 เท่า เท่านั้น
เสียดายเหมือนกันว่าการสำรวจในครั้งนี้ไม่มีประเทศไทย แต่ถ้าจะลองคิดกันดูเล่นๆ จาก GDP per capita ของไทย ที่ $8,703 หรือ 2.6 แสนบาทต่อปี ซึ่งรายได้ต่อปีที่จะทำให้คนไทยรู้สึกมีความสุข ผมคิดว่าน่าจะประมาณสัก 4 เท่าของ GDP per capita (ดูจากตัวเลขของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่สูงถึง 3-4 เท่า) ซึ่งก็น่าจะอยู่ $34,812 หรือ 1.04 ล้านบาทต่อปี หรือทำงานอะไรให้ได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 87,000 จะได้รู้สึกว่ามีความสุขนั่นเอง
ว่าแต่....แล้ว "ความสุขของคุณละมีราคาสักเท่าไหร่?"
อ้างอิง :
1. The Perfect Income for Happiness? from CNBC
2. GDP per capita Year 2011 form Wikipedia
Comments
Post a Comment