"หนัก เบา รีบ ช้า" เคล็ดลับใช้ชีวิตให้เป็นสุข


หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ เพราะมัวแต่ไปปั่นบล็อกรีวิวหนังสืออย่างสนุกมือ เลยไม่ได้มา update บล็อกนี้ (ใครสนใจบล็อกรีวิวหนังสือ ที่แอบเปิดตัวอย่างเงียบเชียบ ฮ่าฮ่าฮ๋า ตามไปอ่านกันได้ครับที่ iYom BookViews) ส่วนสำหรับบล็อกนี้มีแผนว่าจะทำโพสที่รวมบทความแต่ละเรื่องที่น่าสนใจไว้ ใครสนใจจะได้มาหาอ่านจากโพสหลักโพสเดียว จะได้ bookmark เก็บไว้อ้างอิงหน้าเดียวก็พอ มิตรรักแฟนบล็อกทั้งหลายจะได้สะดวกมากขึ้น อย่างที่เคยทำไว้แล้วในเรื่อง 6 ข้อคิดของการทำการตลาดสีเขียว ส่วนหัวข้ออื่นจะเป็นอะไรต่อไปไว้ติดตามกันนะครับ

ทักทายมาซะยาว กลับเข้าเรื่องวันนี้ดีกว่า ไม่มีอะไรมากวันก่อนได้อ่านโพสหนึง ซึ่งส่วนตัวแล้วโดนมากๆ ทำให้ฉุกคิดกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ จึงอยากจะเอามาฝากกัน ลองไปอ่านดูครับ อาจจะยาวสักนิด แต่รับรองว่าคุ้มค่าครับ

เอี๋ยนหุยใฝ่ศึกษา มีคุณธรรมงดงาม เป็นศิษย์รักของขงจื้อ
มีอยู่วันหนึ่ง เอี๋ยนหุยออกไปทำธุระที่ตลาด เห็นผู้คนจำนวนมากห้อมล้อมอยู่ที่หน้าร้านขายผ้า
จึงเข้าไปสอบถามดู จึงรู้ว่าเกิดการพิพาทระหว่างคนขายผ้ากับลูกค้า
ได้ยินลุกค้าตะโกนเสียงดังโหวกเหวก ว่า “3x8ได้ 23 ทำไมท่านถึงให้ข้าจ่าย24เหรียญล่ะ!”
เอี๋ยนหุยจึงเดินเข้าไปที่ร้าน หลังจากทำความเคารพแล้ว ก็กล่าวว่า “พี่ชาย 3x8 ได้ 24 จะเป็น 23 ได้ยังไง? พี่ชายคิดผิดแล้ว ไม่ต้องทะเลาะกันหรอก”
คนซื้อผ้าไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ชี้หน้าเอี๋ยนหุยและกล่าวว่า “ใครให้เจ้าเข้ามายุ่ง! เจ้าอายุเท่าไหร่กัน! จะตัดสินก็มีเพียงท่านขงจื้อเท่านั้น ผิดหรือถูกมีท่านผู้เดียวที่ข้าจะยอมรับ ไป ไปหาท่านขงจื้อกัน ”

เอี่ยนหุยกล่าวว่า “ก็ดี หากท่านขงจื้อบอกว่าท่านผิด ท่านจะทำอย่างไร?”
คนซื้อผ้ากล่าวว่า“หากท่านวินิจฉัยว่าข้าผิด ข้ายอมให้หัวหลุดจากบ่า! แล้วหากเจ้าผิดล่ะ?”
เอี๋ยนหุยกล่าวว่า “หากท่านวินิจฉัยว่าข้าผิด ข้ายอมถูกปลดหมวก(ตำแหน่ง)”
ทั้งสองจึงเกิดการเดิมพันขึ้น
เมื่อขงจื้อสอบถามจนเกิดความกระจ่าง ก็ยิ้มให้กับเอี๋ยนหุยและกล่าวว่า “3x8ได้ 23 ถูกต้องแล้วเอี๋ยนหุย เธอแพ้แล้ว ถอดหมวกของเธอให้พี่ชายท่านนี้เสีย”
เอี๋ยนหุย ไม่โต้แย้ง ยอมรับในการวินิจฉัยของท่านอาจารย์ จึงถอดหมวกที่สวมให้แก่ชายคนนั้น
ชายผู้นั้นเมื่อได้รับหมวกก็ยิ้มสมหวังกลับไป
ต่อคำวินิจฉัยของขงจื้อ ต่อหน้าแม้เอี๋ยนหุยจะยอมรับ แต่ในใจกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น
เอี๋ยนหุยคิดว่าท่านอาจารย์ชรามากแล้ว ความคิดคงเลอะเลือน จึงไม่อยากอยู่ศึกษากับขงจื้ออีกต่อไป

พอรุ่งขึ้น เอี๋ยนหุยจึงเข้าไปขอลาอาจารย์กลับบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าที่บ้านเกิดเรื่องราว ต้องรีบกลับไปจัดการ ขงจื้อรู้ว่าเอี๋ยนหุยคิดอะไรอยู่ ก็ไม่ได้สอบถามมากความ อนุญาตให้เอี๋ยนหุยกลับบ้านได้

ก่อนที่เอี๋ยนหุยจะออกเดินทาง ได้เข้าไปกราบลาขงจื้อ ขงจื้อกล่าวอวยพรและให้รีบกลับมาหากเสร็จกิจธุระแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้กำชับว่า “อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง” เอี๋ยนหุยคำนับพร้อมกล่าวว่า “ศิษย์จะจำใส่ใจ” แล้วลาอาจารย์ออกเดินทาง

เมื่อออกเดินทางไปได้ระยะหนึ่ง เกิดพายุลมแรงสายฟ้าแลบแปลบ เอี๋ยนหุยคิดว่าต้องเกิดพายุลมฝนเป็นแน่ จึงเร่งฝีเท้าเพื่อจะเข้าไปอาศัยอยู่ไต้ต้นไม้ใหญ่ แต่ก็ฉุกคิดถึงคำกำชับของท่านอาจารย์ที่ว่า “อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง”

เราเองก็ติดตามท่านอาจารย์มาเป็นเวลานาน ลองเชื่ออาจารย์ดูอีกสักครั้ง คิดได้ดังนั้น จึงเดินออกจากต้นไม้ใหญ่

ในขณะที่เอี๋ยนหุยเดินไปได้ไม่ไกลนัก บัดดล สายฟ้าก็ผ่าต้นไม้ใหญ่นั้นล้มลงมาให้เห็นต่อหน้าต่อตา เอี๋ยนหุยตะลึงพรึงเพริด คำกล่าวของพระอาจารย์ประโยคแรกเป็นจริงแล้ว หรือตัวเราจะฆ่าใครโดยไม่รู้สาเหตุ? เอี๋ยนหุยจึงรีบเดินทางกลับ กว่าจะถึงบ้านก็ดึกแล้ว แต่ไม่กล้าปลุกคนในบ้าน เลยใช้ดาบที่นำติดตัวมาค่อยๆเดาะดาลประตูห้องของภรรยา

เมื่อเอี๋ยนหุยคลำไปที่เตียงนอน ก็ต้องตกใจ ทำไมมีคนนอนอยู่บนเตียงสองคน! เอี๋ยนหุยโมโหเป็นอย่างยิ่ง จึงหยิบดาบขึ้นมาหมายปลิดชีพผู้ที่นอนอยู่บนเตียง เสียงกำชับของอาจารย์ก็ดังขึ้นมา “อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง” เมื่อเขาจุดตะเกียง จึงได้เห็นว่า คนหนึ่งคือภรรยา อีกคนหนึ่งคือน้องสาวของเขาเอง

พอฟ้าส่าง เอี๋ยนหุยก็รีบกลับสำนัก เมื่อพบหน้าขงจื้อจึงรีบคุกเข่ากราบอาจารย์และกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ คำกำชับของท่านได้ช่วยชีวิตของศิษย์ ภรรยาและน้องสาวไว้ ทำไมท่านจึงรู้เหมือนตาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์บ้าง?”

ขงจื้อพยุงเอี๋ยนหุยให้ลุกขึ้น และกล่าวว่า “เมื่อวานอากาศไม่ค่อยสู้ดีนัก น่าจะมีฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นแน่ จึงเตือนเธอว่า อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ และเมื่อวาน เธอจากไปด้วยโทสะ แถมยังพกดาบติดตัวไปด้วย อาจารย์จึ้งเตือนเธอว่า อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง ”

เอี๋ยนหุยโค้งคำนับ “ท่านอาจารย์คาดการดังเทวดา ศิษย์รู้สึกเคารพเลื่อมใสท่านเหลือเกิน”
ขงจื้อจึงตักเดือนเอี๋ยนหุยว่า “อาจารย์ว่าที่เธอขอลากลับบ้านนั้นเป็นการโกหก ที่จริงแล้วเธอคิดว่าอาจารย์แก่แล้ว ความคิดเลอะเลือน ไม่อยากศึกษากับอาจารย์อีกแล้ว เธอลองคิดดูสิ อาจารย์บอกว่า 3x8ได้ 23 เธอแพ้ ก็เพียงแค่ถอดหมวก หากอาจารย์บอกว่า 3x8ได้ 24 เขาแพ้ นั่นหมายถึงชีวิตของคนๆหนึ่ง เธอคิดว่าหมวกหรือชีวิตสำคัญล่ะ? ”

เอี๋ยนหุยกระจ่างในฉับพลัน คุกเข่าต่อหน้าขงจื้อ แล้วกล่าวว่า “ท่านอาจารย์เห็นคุณธรรมเป็นสำคัญ โดยไม่เห็นแก่เรื่องถูกผิดเล็กๆน้อยๆ ศิษย์คิดว่าอาจารย์แก่ชราจึงเลอะเลือน ศิษย์เสียใจเป็นที่สุด”
จากนั้นเป็นต้นไป ไม่ว่าขงจื้อจะเดินทางไปยังแห่งหนตำบลใด เอี๋ยนหุยติดตามไม่เคยห่างกาย

จากตำนานเรื่องเล่านี้ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเพลงๆหนึ่งของอิวเค่อหลี่หลิน(นักร้องดูโอของไต้หวัน) ที่ร้องว่า “หากสูญเสียเธอไป ต่อให้เอาชนะทั้งโลกได้แล้วจะยังไง?
เช่นกัน บางครั้งคุณอาจเอาชนะคนอื่นด้วยเหตุผลของคุณ แต่อาจจะสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดไป

เรื่องราวต่างๆ แบ่งเป็น"หนัก เบา รีบ ช้า" อย่าเป็นเพราะต้องการเอาชนะให้ได้ แล้วทำให้เสียใจไปตลอดชีวิต

เรื่องราวมากมายที่ไม่ควรทะเลาะกัน ถอยหนึ่งก้าวทะเลกว้างฟ้างาม
ทะเลาะกับลูกค้า ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (วันที่ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ คุณก็จะรู้สึก)
ทะเลาะกับเถ้าแก่ ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (วันที่ตรวจผลงานปลายปีมาถึง คุณก็จะรู้สึก)
ทะเลาะกับภรรยา ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (เธอไม่สนใจคุณ คุณก็หากับข้าวกินเองละกัน)
ทะเลาะกับเพื่อน ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (เคลียร์ไม่ได้ คุณอาจจะเสียเพื่อนไปเลย)

ใบชา เกิดสีสวยและกลิ่นหอมน่าลิ้มลองได้ ก็เพราะโดนน้ำร้อนลวก
ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เพราะเผชิญกับอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า
จึงเหลือไว้ซึ่งเรื่องราวเป็นตำนานให้ได้เล่าขานน่าตามติด
ผู้ที่รู้สำนึกคุณอยู่เสมอ จึงเป็นผู้มีวาสนามากที่สุด
------------------------------------------------------------------------------------------------------



ที่จริงการใช้ชีวิตแบบ หนัก เบา ช้า เร็ว ก็เหมือนหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้เราดำรงชีวิตอยู่ในทางสายกลาง ซึ่งผมคิดว่าบทความข้างต้น ช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า คำว่า "ทางสายกลาง" มันคืออะไร ผมยังไม่ทราบต้นฉบับที่แน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของบทความนี้ แต่ก็ต้องขอบคุณเจ้าของบทความดังกล่าวที่นำมาเล่าต่อพร้อมกับข้อคิดดีๆ ที่นำมาฝากกัน ขอบคุณครับ

Comments