9 คำถามสะท้อนภาพจีนกับ "ลีกวนยู"


พูดถึง "ลีกวนยู" หลายคน คงจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวและประวัติชีวิตของผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ให้ขึ้นมาโดดเด่นในเวมีโลกได้ในขณะนี้ (ซึ่งใครอยากรู้จักลีกวนยู มากกว่านี้ตามไปอ่านได้ที่ คมความคิด คมชีวิต ลีกวนยู) จึงไม่แปลกที่ความคิด ความเห็น ของคนผู้นี้จะมีอิทธิพลและได้รับความสนใจต่อทั่วโลก ซึ่งหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของลีกวนยู ในชื่อ "LEE KUAN YEW : The grand master's insights on China, the United States, and the World" ต่างก็ได้รับการกล่าวถึงเช่นกัน ซึ่งเนื้อหาภายในเป็นลักษณะบทสัมภาษณ์ความคิดเห็นของลีกวนยู แต่สิ่งที่น่าสนใจของเล่มนี้่คงหนีไม่พ้นในเรื่องมุมมองที่ลีกวนยูมีต่อทั้งประเทศจีนและประเทศอเมริกา ซึ่งวันนี้เราจะติดตามบทสัมภาษณ์ซึ่งจะสะท้อนความคิดเห็นที่ลีกวนยูมีต่อประเทศจีนกันว่า ลีนั้นเห็นอะไรในจีนกัน


1. คำถาม: จีนต้องการแทนที่สหรัฐเพื่อเป็นที่ 1 แทนในเอเชียไหม

ลีตอบ: จีนต้องการขึ้นเป็นที่ 1 แทนสหรัฐอย่างแน่นอน ไม่ต้องสงสัยในเรื่องนี้เลย โกลด์แมนแซคทำนายว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วยอัตราขนาดนี้ เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จีนกำลังไล่ตามสหรัฐทั้งการส่งคนขึ้นไปบนอวกาศ และใช้มิสไซล์ยิงดาวเทียม แล้วพวกเขายังมีวัฒนธรรมอายุ 4,000 ปี คนอีก 1.3 พันล้านคน เอาแค่ส่วนน้อยในนี้ก็สามารถดึงกลุ่มอัจฉริยะมาได้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

ตลาดของคน 1.3 พันล้านคนนี้ มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะปฏิเสธได้และทั้งรายได้และกำลังซื้อมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

แต่จีนจะไม่มีวันเป็น "ประเทศตะวันตก" เด็ดขาด จีนจะเป็นจีนและต้องการให้ประเทศตะวันตกยอมรับจีนในเรื่องนี้

2. คำถาม: ถ้าจีนเป็นมหาอำนาจได้จริง จีนจะเป็นอย่างไร

ลีตอบ: ในความคิดของจีน แต่เดิมมาจีนคือ "อาณาจักรกลาง" (จงกั๋ว หรือ 中国) ในเอเชียสมัยโบราณ จีนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และประเทศอื่นรอบจีนต้องยอมรับอำนาจของจีน (เช่นการส่งบรรณาการมาคำนับ)

ไม่มีใครในเอเชีย (หรืออาเซียน) จะแน่ใจได้ว่าจีนจะทำตัวแบบเดียวกับสหรัฐแบบที่เคยเป็นมา จีนต้องการให้ประเทศอื่นในเอเชียให้การเคารพนับถือจีน จีนอาจจะพูดว่าไม่ว่าประเทศจะใหญ่หรือเล็กต่างก็เท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงหากเราทำอะไรที่ทำให้จีนไม่พอใจ จีนก็จะบอกว่าคุณกำลังทำให้คน 1.3 พันล้านไม่พอใจนะ ช่วยรู้ที่รู้ทางของคุณหน่อย

3. คำถาม: ยุทธศาสตร์ของจีนที่จะเป็นที่ 1 คืออะไร

ลีตอบ: จีนจะไม่ท้าทายสหรัฐโดยตรง เพราะในขณะนี้สหรัฐมีความเข้มแข็งทางการทหาร และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า แต่จีนจะใช้จำนวนคนที่มากกว่า ที่มีทั้งฝีมือและการศึกษาในการ ขายของถูก สร้างของถูก กว่าคนอื่น ๆ

จีนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ เยอรมนี และ ญี่ปุ่น ที่ไปท้าทายระเบียบโลกในขณะนั้นโดยตรง จึงต้องประสบหายนะ ซึ่งจีนไม่โง่ และจีนจะใช้รายได้ประชาชาติ GDP ไม่ใช่รายได้ประชาชาติต่อหัว (จีนไม่สนใจรายได้ต่อคน เท่ากับรายได้ประเทศโดยรวม) เป็นอำนาจในการต่อรอง

แม้ขีดความสามารถทางการทหารของจีนจะไม่สามารถทัดเทียมกับสหรัฐในเวลาอันใกล้ แต่จีนจะพัฒนามาตรการแบบไม่สมมาตร (asysmmetrical means) เพื่อทอนกำลังทหารของสหรัฐลง

จีนเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเติบโตของตนนั้นขึ้นกับการนำเข้า พลังงาน วัตถุดิบ และ อาหาร *ดังนั้นจีนต้องการเส้นทางขนส่งทางทะเล* ดังนั้นสิ่งที่ปักกิ่งกังวลที่สุดคือ *ช่องแคบมะละกา*

จีนสามารถรอได้ถึง 30 - 50 ปี ที่จะใช้ช่วงเวลานี้ค่อย ๆ สั่งสมกำลังทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร "อย่างสันติ" ค่อย ๆ เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์ ให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

จีนจะไม่เดินซ้ำรอย เยอรมนีและญี่ปุ่น ส่วนข้อผิดพลาดของโซเวียตก็คือพวกเขาให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายทางทหารมากจนเกินไป และให้ความสนใจกับเทคโนโลยีของพลเรือนน้อยเกินไป ดังนั้นเศรษฐกิจของโซเวียตจึงล่มสลาย ผู้นำจีนรู้ดีว่าถ้าเมื่อไหร่จีนไปแข่งขันสะสมอาวุธกับอเมริกา จีนจะหมดตัวทันที

ดังนั้นจีนจะยอมก้มหัวให้ "ในช่วงนี้" ยิ้มรอเวลาอีก 40 - 50 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้!

เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ จีนจะมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาให้กับเยาวชน โดยคัดเลือกคนที่มีสติปัญญาสูงสุด ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้ง เศรษฐกิจ การบริหารธุรกิจ และภาษาอังกฤษ

สำหรับยุทธศาสตร์ของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีง่าย ๆคือ "มาเติบโตกับเราสิ"

จีนจะดึงดูดประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปในขอบเขตอิทธิพลของตน ด้วยอำนาจอันล้นเหลือทางเศรษฐกิจ เพราะขนาดตลาดของจีนและกำลังซื้อของจีนจะมีขนาดใหญ่จนยากปฏิเสธได้ แม้แต่ญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน ก็จะถูกจีน "กลืน" อย่าง "สันติ"

ประเทศอื่นในเอเชียยังอยากให้สหรัฐอยู่ในเอเชียแปซิฟิคเพื่อคานอำนาจจีน อันที่จริงสหรัฐฯ ควรจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับประเทศอื่นในเอเชีย (อย่าง TPP) ให้สำเร็จก่อนหน้านี้สัก 30 ปี แต่ตอนนี้สายไปเสียแล้ว

จีนจะเน้นย้ำว่าพวกเขาจะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจในการขยายเขตอิทธิพลของตนในเอเชีย ดังนั้นเครื่องมือที่พวกเขาจะใช้ในขณะนี้คือ เวทีทางการทูต ไม่ใช่การใช้กำลังทางทหาร.

4. คำถาม: จุดอ่อนของจีนมีอะไรบ้าง

ลีตอบ: ตอนนี้จุดอ่อนภายในของจีนอยู่ที่ วัฒนธรรม, ภาษา และการไม่สามารถดึงดูดผู้ที่มีพรสวรรค์จากต่างประเทศ รวมทั้งระบบการปกครอง

ลีกวนยูมองว่าตอนนี้ภาษาอังกฤษ *เป็นภาษาของโลกไปแล้ว* ต่อให้จีนเปิดรับให้มีผู้ย้ายถิ่นเข้าไปในประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าคนเลือกได้ก็จะเลือกไปอเมริกามากกว่า การจะอยู่อาศัยในจีนได้ต้องใช้ภาษาจีนและระบบภาษาจีนนั้นยุ่งยากกว่ามาก ลีกวนยูเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ว่าเป็นคนเชื้อชาติจีนเหมือนกัน แต่สิงคโปร์จงใจเลือกภาษาอังกฤษเป็นหลัก และภาษาจีนเป็นรอง ลีบอกว่าสิงคโปร์ตั้งใจในเรื่องนี้เพื่อทำให้คนสิงคโปร์สามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกได้ และสามารถเข้าถึงวิทยาการและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า การเข้าถึงเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผ่านตัวภาษา แต่ยังเป็นระบบคิดที่ถูกครอบด้วยตัวภาษาอังกฤษอีกชั้นหนึ่ง ลีกวนยูบอกว่าเคยแนะนำผู้นำจีนเรื่องนโยบายภาษานี้ แต่จีนมีวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจที่เข้มแข็งเกินกว่าจะทำเช่นเดียวกับสิงคโปร์ได้

ในแง่วัฒนธรรม แม้จีนจะสามารถไล่กวดทันสหรัฐในแง่เศรษฐกิจ แต่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมจะไม่สามารถไล่ทันอเมริกาได้เลย เพราะจีนมีวัฒนธรรมที่จะไม่ยอมให้มีการแลกเปลี่ยนหรือแข่งขันทางความคิดอย่างเสรี ลีกวนยูชวนให้คิดถึงตรรกะง่าย ๆ ที่ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่มีประชากรมากกว่าอเมริกาถึงสี่เท่าแถมยังมีผู้คนที่มีความสามารถเต็มไปหมด แต่กลับไม่สามารถคิดเทคโนโลยีที่ล้ำยุคออกมาได้เลย?

ธรรมเนียมของจีนนั้นเมื่อส่วนกลางเข้มแข็ง ส่วนภูมิภาคก็อ่อนแอ และในทำนองกลับกันส่วนภูมิภาคเข้มแข็งเมื่อไหร่ ส่วนกลางก็จะอ่อนแอ เมื่อส่วนกลางอ่อนแอ "จักรพรรดิก็จะอยู่ห่างออกไปและภูเขาก็จะสูงชันขึ้น" สิ่งเดียวที่จีนกลัวก็คือการที่จีนจะคุมมวลชนของตนไม่อยู่ จีนรู้ว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด

นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องขนาดอันใหญ่โตของประเทศ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ย่ำแย่ ความอ่อนแอของสถาบัน ผลตกค้างของระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของโซเวียตที่จีนเคยนำมาใช้

ปัญหาใหญ่ที่สุดของจีนคือความแตกต่างระหว่างเมืองแถบชายฝั่งทะเลที่ร่ำรวย และเมืองในเขตที่ลึกเข้ามาในพื้นทวีปที่ยากจน (รวมทั้งความเหลื่อมล้ำในตัวเมืองเหล่านั้นด้วย) สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดการจราจลและอาจลุกลามบานปลายได้

ลีกวนยูมองว่า เทคโนโลยีจะทำให้ระบอบการปกครองของจีนล้าสมัย ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า (2030) เมืองต่าง ๆ ของจีนจะต้องรองรับประชากรราว 70 - 75% คนเหล่านี้จะมีทั้ง โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม แล้วคนเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าถึงความรู้จากนอกประเทศได้ สามารถจัดตั้งกันเองได้ พอเมื่อเป็นดังนั้นแล้วระบบการปกครองแบบปัจจุบันจะใช้ไม่ได้อีก การตรวจสอบสอดส่องคนต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ทำไม่ได้ เพราะมีคนมากเกินไปที่จะทำได้ทั่วถึง

แต่จีนอาจผ่อนปัญหานี้ลงไปได้บ้างถ้าใช้วิธีแบบ "สัมฤทธิผลนิยม" คือยังคงใช้ระบบควบคุมอย่างเข้มงวด เหมือนที่จีนทำอยู่แล้ว ไม่อนุญาตให้มีการจราจลไม่อนุญาตให้มีการประท้วง แล้วค่อย ๆ โอนอำนาจให้กับท้องถิ่น และคนชั้นล่างลงไป

5. คำถาม: จีนต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นหมายเลข 1 เร็วช้าเท่าใด

ลีตอบ: จีนไม่เร่งรีบที่จะเป็นหมายเลข 1 ของโลกแทนสหรัฐ การมีพื้นที่อยู่ใน G20 ก็โอเคสำหรับจีน ในกลุ่มนี้มุมมองของจีนก็จะถูกรับทราบอย่างชัดแจ้งและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ได้รับการปกป้อง แต่ต้นทุนในการรับผิดชอบก็จะกระจายออกไปให้กับอีก 19 ประเทศที่เหลือด้วย

ชนชั้นนำจีนแม้ว่าจะมีมุมมองที่ค่อนไปทางระมัดระวังตัวและอนุรักษ์นิยม แต่พวกเขาก็จะทำงานบนพื้นฐานของฉันทามติมากกว่าการโหวต และด้วยมุมมองระยะยาว ดังนั้นศตวรรษที่ 21 ก็อาจเป็นศตวรรษของจีนก็ได้ หรือแชร์ร่วมกันกับสหรัฐก็ได้ แต่หลังจากนั้นศตวรรษของจีนก็จะตามมาอยู่ดี

6. คำถาม : จีนมองบทบาทของสหรัฐในเอเชียอย่างไร

ลีตอบ : จีนไม่เคยประมาทศักยภาพของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่สามารถครองความเป็นผู้นำในภูมิภาคต่อเนื่องกันถึงเจ็ดทศวรรษ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สหรัฐยังประกันเสถียรภาพด้านความมั่นคงให้กับ ญี่ปุ่น ประเทศเสือเอเชียทั้งหลาย รวมถึงจีนเองด้วย จีนทราบดีว่าพวกเขายังต้องการตลาดของสหรัฐ เทคโนโลยีของสหรัฐ และการส่งนักศึกษาจีนไปเรียนต่อสหรัฐ เพื่อนำเอาความรู้ล้ำหน้าที่สุดของโลกกลับมาใช้ยังจีน ดังนั้นจีนมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะไปต่อกรกับสหรัฐในช่วง 20 - 30 ปีนับจากนี้

ตรงข้ามจีนจะยอมรับระเบียบโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่อย ๆ รอเวลาที่เข้มแข็งพอที่จะ "นิยาม" ระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่

7. คำถาม: จีนจะยังคงการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักไปอีกหรือไม่

ลีตอบ: สามทศวรรษที่ผ่านมาจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 10% ต่อปีบางครั้งถึง 12% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่ธรรมดา ลีมองว่าจีนน่าจะยังคงการเติบโตในอัตรานี้ได้อยู่ในทศวรรษข้างหน้า เพราะจีนมาจากฐานการเติบโตที่ต่ำ และจำนวนผู้บริโภคขนาด 1.3 พันล้านจะช่วยเพิ่มการเติบโตได้แน่

8. คำถาม : จีนจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ลีตอบ: จีนไม่มีทางเป็นประเทศที่เป็น "เสรีประชาธิปไตย" เพราะถ้าเป็นเมื่อไหร่ จีนจะล่มสลายทันที

ลีบอกว่าปัญญาชนจีนเองก็ตระหนักเรื่องนี้ดี การปฏิวัติประเทศให้เป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นยาก ลีชี้ให้ดูขบวนนักศึกษาสมัยเทียนอันเหมิน เดี๋ยวนี้พวกเขาหายไปไหนแล้ว? คนจีนต้องการจีนให้ฟื้นกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ต่างหาก

แต่ถ้าพูดถึงระบอบประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านและเมืองเล็ก ๆ อันนี้พอเป็นไปได้ แม้จะมีแรงต้านพวกนี้อยู่แต่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตจะช่วยเร่งแนวโน้มนี้เพิ่มมากขึ้น

แต่ระบบส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในอีก 50 ปีข้างหน้า

ชนชั้นนำจีนจะยอมรับเทคนิคใหม่ ๆ ยกเว้นเส้นทางประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีการลงคะแนนเสียงเท่ากันทุกคน และระบบหลายพรรคการเมือง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ต้องการควบคุมเสถียรภาพทางการเมือง และพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่มีขุนศึกควบคุมเขตต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างในสมัย ทศวรรษ 1920 และ 1930

9. คำถาม : แล้วจีนจะเป็นที่ 1 ได้ไหม

ลีตอบ : จีนต้องตระหนักว่าศักยภาพตนเองอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ใช่การทหาร จีนมีกำลังคนมากและสามารถผลิตของได้ถูกกว่าใครในโลก อิทธิพลของจีนในแง่นี้จะเติบโตมากขึ้นและมากขึ้นจนเกินศักยภาพอเมริกา

จีนอาจมีโอกาสมีปัญหาเหมือนกัน ถ้าผู้นำของจีนที่ถูกเลือกขึ้นมาไม่ตระหนักถึงแนวทางนี้ ซึ่งมีลักษณะสัมฤทธิผลนิยมมากกว่าเป็นไปตามอุดมการณ์ทางการเมือง โอกาสที่ว่านี้ลีมองว่ามีสัก 20% ลีไม่ถึงกับมองว่าเป็นไปไม่ได้เลย และโอกาสนี้ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นเพราะจีนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของ ระบบการเมืองภายใน วัฒนธรรมทางธุรกิจ การลดปัญหาการคอรัปชั่น และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา

ลีมองในแง่ดีว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษที่ฟื้นกลับคืนมาของเอเชียในโลก มีหายนะที่อยู่ในการคาดการณ์น้อยเต็มทีที่จะทำให้จีนแตกเป็นเสี่ยงและกลับไปเป็นประเทศที่มีพวกขุนศึกคอยรบกันอีก แต่จีนจะต้องตระหนักถึงเรื่องการศึกษากับประชาชนของตนในการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เพื่อที่จะทำให้สังคมเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบในก้าวแรก ถัดจากนั้นก็จะบรรลุถึงสังคมไฮเทคโนโลยีในก้าวถัดไป กระบวนการทั้งหมดนี้อาจใช้เวลา 50 - 100 ปี

(ลีมองอินเดียตรงข้ามกับจีนว่า การทำประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมได้ไม่ดีเท่าจีน แต่ไปเน้นการบริการ ซึ่งทำให้ประเทศไม่มีความเข้มแข็งเท่าจีนในขณะนี้)

ที่มา : Siam Intelligence

Comments