จากบทความก่อนหน้า ที่ได้มีการอธิบายในเรื่องผลิตภัณฑ์สีเขียว "Green Product" ในเบื้องต้นให้เพื่อนๆ ได้พอรู้และพอเข้าใจกันบ้าง คราวนี้เราจะมาดูกันต่อว่าธุรกิจต่างๆ ในไทยที่กำลังให้ความสนใจในเรื่อง Go Green กันมากขึ้น เขามีวิธีการหรือกลยุท์การตลาดสีเขียว กันอย่างไร ไปดูกัน
Green Marketing Strategy กลยุทธ์การตลาดสีเขียว
เป็นที่ยอมรับว่าเวลานี้กระแสเรื่อง สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน หรือรวม ๆ ที่เรียกว่า "กรีน" (green) ได้เข้าไปมีบทบาทในแทบทุกวงการ และจากกระแสที่แรงขึ้นมาอย่าง ต่อเนื่อง ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งก็พยายาม พลิกกระแสกรีนมาเป็นจุดขายอย่างหนึ่งขององค์กรและสินค้า เริ่มจาก "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ที่แทบทุกค่ายต่างชูคอนเซ็ปต์ "เครื่องใช้ไฟฟ้าสีเขียว" เพิ่มยอดขายจากมูลค่าสินค้าและสร้างความต่างจากคู่แข่ง ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
"โตชิบา" เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่นำร่องในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยนโยบาย 5 กรีนให้กระบวนการทำงานและสินค้าที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ องค์กร สินค้า เซอร์วิส การซื้อ-ขาย และสังคม ล่าสุดได้เพิ่ม "green dealer" สำหรับร้านค้าโดยเฉพาะการประหยัดพลังงานภายในร้าน เช่น เดียวกับ "พานาโซนิค" ที่วางยุทธศาสตร์ ecoideas เป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด
1. การประหยัดพลังงาน
2. วัตถุดิบในการผลิตต้องไม่มี สารพิษต้องห้าม และ
3. ทุกโรงงานในกลุ่ม พานาโซนิคไทยแลนด์ จะต้องได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ด้าน "ฟิลิปส์" ชูกรีนมาร์เก็ตติ้งเป็นนโยบายหลักบุกตลาดต่อจากนี้ ด้วยการลอนช์สินค้าเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม พร้อมโปรโมชั่นพิเศษเดินสายรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อเร่งให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า สีเขียว โดยสินค้าจะสร้าง จุดขายด้วย คุ้มค่า, ประหยัดไฟ, ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ลงตัว, ปลอดสารพิษ, น้ำหนักเบา, ทำจากวัสดุรีไซเคิล และทนทาน นำร่องที่ 50 สินค้าซึ่งจะติดสัญลักษณ์ Philips Green Logo
ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์นี้มาอย่างต่อ เนื่อง เริ่มจากเทสโก้ โลตัสที่เปิดสาขาคอนเซ็ปต์ กรีนสโตร์แห่งแรกที่ พระรามที่ 1 เมื่อ ปี 2547 และเปิดสาขาที่ 2 ที่ศาลายา ซึ่งเป็นกรีนสโตร์รูปแบบใหม่ นอกจากนี้มีการรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงมาจากบ้านเพื่อใส่สินค้าผ่านโครงการ "กรีนแบ็ก กรีนพอยท์" พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกรีนโปรดักต์ออกมาจำหน่าย ด้วย 118 รายการ อาทิ หลอดไฟ ถุงขยะ น้ำยาลบคำผิด แฟ้ม ฯลฯ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าเหล่านี้ก็จะได้รับคะแนนสะสมกรีนพอยท์ตามกำหนด
ส่วน เจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นก็มีแผนจะเปิดร้านต้นแบบประหยัดพลังงาน ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด
"สุวิทย์ กิ่งแก้ว" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ร้านต้นแบบดังกล่าวทำขึ้นมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของแต่ละสาขา และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของบริษัทและคนทั่วไป โดยมีต้นแบบจากญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนและการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้เริ่มนำร่องโครงการรณรงค์รักษาสภาพแวดล้อมด้วยการกำหนดให้ร้าน เซเว่นฯในภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพีพี และเกาะเต่า ทุกสาขาใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์ และมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่ง ของค้าปลีกเท่านั้น นอกจากนี้ การออกแบบศูนย์การค้าในรูปแบบอีโคคอนเซ็ปต์ ไม่เพียงเพื่อสอดรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ของกลุ่มลูกค้าที่เป็นกระแสทั่วโลก แต่ยังหมายถึงการช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานภายในศูนย์ด้วย การเปิดตัวศูนย์การค้า "ธัญญะ ช็อปปิ้งพาร์ค" ปลายปี 2554 จะเป็นตัวอย่างของการออกแบบศูนย์สีเขียวที่เห็นภาพชัดด้วยจุดขายการเป็น ECO Shopping Mall ด้วยการแบ่งพื้นที่รีเทลเพียง 2 หมื่น ตร.ม. จากพื้นที่โครงการ 7 หมื่น ตร.ม. เพื่อเป็นศูนย์การค้าในบรรยากาศสวนพร้อมดีไซน์ทันสมัย ทั้งสถาปัตยกรรมแบบ botanical hybrid วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรวมถึงระบบต่าง ๆ ภายในโครงการที่ช่วยการประหยัดพลังงาน ด้วยความเชื่อมั่นว่า คอนเซ็ปต์ "สีเขียว" จะสามารถดึงดูดลูกค้าในเมืองที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวาย และสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติได้มากที่สุด นี่ยังไม่นับรวมถึงโครงการปลูกป่าลดโลกร้อน การรณรงค์ลดถุงพลาสติก ฯลฯ ที่ทุกค่ายทำมาจนแถบนับครั้งไม่ถ้วน
มุมมองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโฆษณา "วฤตดา วรอาคม" ผู้จัดการแผนกคอนซูเมอร์ อินไซด์ แมคแคน เวิลด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ชี้ว่าปี 2554 กระแสผู้บริโภคกลุ่มกรีนจะเริ่มอิ่มตัว เพราะจะเริ่มหันมาสนใจกับเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน จากเดิมที่มักใส่ใจเรื่องของต้นไม้และสิ่งแวดล้อมก็จะเคลื่อนตัวมาสนใจ เรื่องของสังคม ชุมชน การศึกษา ศิลปะวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า
ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเลือกให้ การตอบรับที่ดีกับแบรนด์ที่มีนโยบายเรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืนที่ชัดเจนและต่อเนื่อง
จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ "นิมิตร หมดราคี" ซีอีโอ 124 คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนซัลติ้ง ได้ปรับตัวโดยหันมาโฟกัสงานด้านที่ปรึกษาและวางแผนกลยุทธ์งานประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารในตลาดสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ green ocean โดย มองว่าการสื่อสารในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้ง องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่-เล็ก และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและ สิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใช้เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจกับมวลชนทั้งที่มีปัญหาและไม่มี ปัญหาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ นี่คือเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นและเริ่มมีอิมแพ็กต์ในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
Comments
Post a Comment