SMEs กับการเติบโตบนเส้นทางสีเขียว (Green Sustainable Growth for SMEs)



หลังจากที่บทความก่อนหน้าเราได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) แล้วว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของกิจการขนาดใหญ่ บิ๊กเบิ้ม ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่โตมโหฬาร ก็ควรจะมีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จริงเท่าที่ผมได้อ่านรายงานประจำปีของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ หลายบริษัทเขาก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกันตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แล้วอย่างนี้มันจะมีปัญหาอะไรอีกละ ในเมื่อกิจการขนาดใหญ่เขาก็ได้ดำเนินการกันมาแล้ว อ๊ะ นั่นแหล่ะครับปัญหา แต่เป็นปัญหาของ SMEs ต่างหาก เพราะขนาดรายใหญ่เขายังทำ แล้ว SMEs อย่างเรามัวทำอะไรอยู่ จากการที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ถือว่ามีจำนวนมากในบ้านเรา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ฉะนั้น อะไรที่เกี่ยวกับเรื่อง สินค้าสีเขียว SMEs จะต้องหันกลับมาให้ความใส่ใจกันมากขึ้น เพราะมันจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ SMEs นั้นเติบโตและมีที่ยืนอยู่บนตลาดได้ในอนาคต ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เพราะเจ้าใหญ่เขาก็จะใหญ่มากขึ้นไปอีกแน่นอน


SMEs กับการเติบโตบนเส้นทางสีเขียว


การทำอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น ไม่ได้เน้นโรงงานระดับใหญ่ แต่กลุ่ม SMEs คือเป้าหมายหลัก เนื่องจากมีสัดส่วนมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในเรื่องการเติบโตสีเขียวจึงมีความสำคัญตามไปด้วย จากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าความร่วมมือในระดับเล็กและเปรียบเทียบอัตราการผลิตและการปล่อยมลพิษแล้ว SMEs จะเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีทางเลือกง่ายกว่า และมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้าง ผลกำไรและลดการปล่อยของเสียได้รวดเร็วกว่า ทว่า SMEs ต้องพร้อมและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขการแข่งขันเพื่อก้าวเข้าสู่การเติบโตสีเขียวจึงจะเกิดผลในวงกว้าง

อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ SMEs สีเขียวปัจจุบันต้องเผชิญคือ การตลาดที่ต้องแข่งขันกับสินค้ามหภาค ต้นทุนต่ำกว่า ทางออกอยู่ที่ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไม่ว่าจะด้วยตัวเอง รับเอาเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามา รวมถึงการร่วมมือกับเครือธุรกิจขนาดใหญ่ และวางเป้าหมายไปสู่เวทีการค้าระดับโลกด้วย

หนทางสู่ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เป็นเลิศ


ผลิตภัณฑ์ (Product)


เริ่มจากตัวผลิตภัณฑ์ หากผลิตภัณฑ์ต้องใช้พลังงาน ต้องลดการสิ้นเปลืองพลังงานได้ดีกว่า ผลิตภัณฑ์ทั่วไป หากเป็นสินค้าประเภทอื่น ก็อาจไม่คำนึงถึงข้อนี้ ในด้านน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ก็ต้องคำนึงถึง เพราะในกระบวนการโลจิสติกส์หากน้ำหนักมาก ก็จะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองในการขนส่งมากเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ ในด้านของผลิตภัณฑ์ ยังคำนึงถึงความคงทนถาวร โดยควรจะต้องสามารถใช้งานได้ ภายในเวลาที่กำหนดไว้กับลูกค้า และไม่เสื่อมโทรมสูญสิ้นไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากว่าหากสินค้านั้น เสื่อมสิ้นไปก่อนเวลาอันควร ก็จะทำให้ต้องสิ้นเปลืองพลังงานมารีไซเคิล มาผลิตใหม่อีก ซึ่งกระบวนการ ผลิตนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

วัตถุดิบ (Raw Material)


วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ และรีไซเคิลได้ในสัดส่วนมากหรือน้อย เมื่อ เทียบกับสัดส่วนการใช้วัตถุดิบทั้งหมด รวมถึงความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ของตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ เอง หากหมดอายุหรือเลิกการใช้งานแล้ว จะสามารถรีไซเคิลได้ และไม่ทิ้งของเสียตกค้างไว้ให้กับสภาพแวดล้อมด้วย 

หีบห่อ (Packaging)


ด้านของหีบห่อ ต้องมีการออกแบบรวมถึงใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยและสามารถรีไซเคิลได้ ไม่มีสารพิษ หรือสารต้องห้ามที่จะเป็นมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมอยู่ในหีบห่อเป็นอันขาด รวมถึงขนาดและน้ำหนักของหีบห่อ จะต้องเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองต่อการขนส่ง 

กระบวนการผลิต (Production Process)


ส่วนประเด็นทางด้านกระบวนการผลิตนั้นจะต้องไม่ใช้พลังงานมากเกินไป โดยเน้นการเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตรุ่นก่อนๆ ว่า มีอัตราการสิ้นเปลืองมากหรือน้อยกว่ากระบวนการผลิตเดิมหรือไม่ และหากสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ จะยิ่งดีมากทีเดียว รวมถึงในการผลิตนั้น จะต้องไม่ปลดปล่อยสารพิษหรือสารตกค้างออกมาสู่สภาพแวดล้อมมากเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด หรือควรหาแนวทางลดน้อยลงเรื่อยๆจนแทบจะเหลือศูนย์ 

จัดซื้อ จัดหา (Procurement)



นอกจากนี้ ยังมองรวมไปถึงการจัดซื้อ จัดหากันเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่จะซื้อ การคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จนถึงการขนส่งมายังแหล่งผลิตของกิจการ ว่าเหมาะสม ไม่สิ้นเปลืองพลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อม 

การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure)


ท้ายที่สุด ก็คือ ควรต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพียงพอต่อการใช้สินค้าบริการดังกล่าวของลูกค้าอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยควรต้องมี ฉลาก (Green label) มีคู่มือ และหรือเอกสารต่างๆ ที่บ่งบอกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ที่่มา : อุตสาหกรรมสาร ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม



Comments